วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

วันสุดท้าย

วันที่ 12 กรกฎาคม 2552 (วันสุดท้ายของการเดินทาง)
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

เช้าวันสุดท้ายนี้เราเดินทางออกจากที่พักมายังวัดแห่งแรกนี้ เป็นวัดที่มีคนเยอะที่สุดในบรรดาวัดทั้งหมดที่ได้ไปมาในทริปนี้ วัดแห่งนี้มีทางเข้าถึง 4 ทาง โดยมีเจดีย์เป็นส่วนกลาง ด้านหน้าเป็นวิหารหลัก ส่วนทิศทั้ง 3 ที่เหลือนั้นมีพระพุทธรูป 3 องค์ ประจำอยู่คือ พระศรีศาสดา พระพุทธชินสีห์ และพระองค์ดำ เพื่อที่ไม่ว่าจะเข้ามาทางไหนก็สามารถสักการะได้ โดยมีระเบียงคดเชื่อมต่อกัน ทำให้คนเดินได้อย่างสะดวก วัดแห่งนี้กลายเป็นวัดที่เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว ทำให้มีร้านขายของที่ระลึกมากมาย โดยถัดจากวัดนี้ไปนั้นคือวัดนางพญา
วัดราชบูรณะ


วัดนี้อยู่ต่อมาจากวัดวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ แต่ดูมีความโบราณเก่าแก่กว่ามาก วัดแห่งนี้เต็มไปด้วยเรื่องของความเชื่อสังเกตได้จากกิจกรรมต่างๆ เช่น การถวามพวงมาลัย และการลอดใต้ท้องเรือ หรือจะเป็นฆ้องขนาดใหญ่ที่รูปแล้วเกิดเสียง ต้นโพธิ์ที่ต้องลอดถึง 9 ครั้ง สิ่งเหล่านี้แสดงถึงความเชื่อต่างๆ หลังจากที่ได้ชมวัดนี้เสร็จ จึงได้แยกย้ายกันไปทานข้าว เนื่องจากอากาศที่ร้อนมากจนแทบจะละลาย ข้าพเจ้ากับเพื่อนๆจึงหนีไปตากแอร์อยู่ที่ห้างใกล้ๆละแวกนั้น ก่อนจะกลับมารวมตัวกันเดินทางกลับกรุงเทพ และสิ้นสุดทริปในครั้งนี้

สรุป
การเดินทางครั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้าได้เปิดหูเปิดตา เห็นความสำคัญของธรรมชาติและความเป็นไทย ที่ข้าพเจ้าและนักออกแบบรุ่นใหม่ได้ลืม หรือมองข้ามไป ทั้งๆที่สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากกับข้าพเจ้า ซึ่งเป็นคนไทย หากเราเคารพธรรมชาติแล้ว อยู่อย่างพอเพียง สถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นจากการคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ จะกลายเป็นสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืน เราอยู่ใต้กฎของธรรมชาติ และ เราอยู่บนผืนแผ่นดินที่มีวัฒนธรรมความเป็นมาที่ยาวนาน ดังนั้นเหตุใดเราจึงมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของเทคโนโลยี ถูกต้องหรือที่ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนี้?...

วันที่ 8

วันที่ 11 กรกฎาคม 2552
วัดพระศรีมหาธาตุเชลียง

เช้านี้ข้าพเจ้าออกแต่เช้าเนื่องจากมีภารกิจต้องกลับมาถ่ายรูปยังวัดพระศรีมหาธาตุเชลียง เพราะเมื่อวานมาเย็นเกินไป วัดแห่งนี้ที่ต้องกลับมาอีกทีเพราะมีสิ่งที่ไม่สามารถหาดูที่ได้อีก นั่นคือ พระพุทธรูปปรางค์ลีลาที่ อ.จิ๋วยกย่องให้เป็นพระพุทธรูปปรางค์ลีลา ที่มีความงดงามมากที่สุด หลังจากที่ได้ไปดูจึงไม่แปลกใจเลยว่าเหตุใดจึงพลาดไม่ได้ ความงามของเส้นโค้งที่อ่อนช้อยราวกับจะมีชีวิตขึ้นมา ที่วัดแห่งนี้ข้าพเจ้าได้ลองเดินรอบระเบียงคด จึงได้เข้าใจว่าเหตุใดจึงมีถึง 3 ชั้นเพื่อใช้ในการเดิน 3 รอบแล้วแต่ละรอบที่เดินครบก็จะวนเข้าไปวงในเรื่อย ทำให้เมื่อเดินครบทุกรอบ จะเข้ามาอยู่ที่ชั้นในสุดพอดี ทางเดินแคบๆนี้ทำให้ไม่มีการเดินแซงกัน คนเดินจึงเดินกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย สิ่งเหล่านี้สถาปนิกต้องเป็นผู้กำหนดพฤติกรรมของผู้เข้ามาใช้ให้เป็นไปตามที่ตนคิด หลังจากเดินเก็บภาพเสร็จก็ออกเดินทางด้วยรถไปยังที่หมายต่อไป ซึ่งอากาศวันนี้เริ่มร้อนอีกแล้ว
วัดกุฎีลาย

วัดนี้หากมองเผินๆคงไม่ต่างจากวัดทั่วไป แต่วัดนี้ อ.จิ๋วได้ชักชวนให้ดู การาวางอิฐแบบคอเบล โครงสร้างนี้คนโบราณสามารถคิดได้จากการรู้จักสังเกตคุณสมบัติของวัสดุแต่ละชนิด แต่เนื่องจากมดเยอะมากทำให้มีบางส่วนไม่เดินเข้ามาถ่ายรูปใกล้ๆข้าพเจ้าคิดว่าความรู้สึกแบบนี้ เป็นความที่ทำให้เราอาจพลาดที่ได้ความรู้บางสิ่งไปก็ได้
เขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

คล้ายกับศรีสัชนาลัยคือเป็นเมืองที่มีคูน้ำล้อมรอบเช่นกันมีวัดต่างๆมากมายแต่สุโขทัยมีความยิ่งใหญ่กว่าศรีสัชนาลัยมาก ทุกคนเดินถ่ายรูปกันอย่าไม่ย่อท้อแม้ว่าอากาศจะร้อนขนาดไหนหลายคนผิวคล้ำขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้เป็นอุปสรรค์กับการถ่ายรูปเลย วัดแห่งนี้มีเจดีย์วางกันอยู่หนาแน่น ที่ว่างต่างๆจึงเป็นไปอย่างกระชั้นชิด หลังจากนั้นจึงเดินต่อไปยังวัดอื่นๆ อีกวัด สองวัด ก่อนจะไปยังศูนย์บริการนำเที่ยวของอุทยาน

ศูนย์แห่งนี้ออกแบโดยใช้รูปแบบอาคาร และช่องเปิด รวมไปถึงราวกันตกตามแบบสุโขทัย เมื่อมาถึงก็นั่งพักกันที่ศาลาด้านหน้า อ.จิ๋วก็ได้เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของการออกแบบศูนย์แห่งนี้ หลังจากนั่นก็พากันไปฟังบรรยายเกี่ยวกับการวางผัง และความเป็นมาของสุโขทัย แล้วจึงแยกย้ายกันถ่ายรูป แต่ข้าพเจ้าได้กลับมาถามผู้บรรยาย จึงทำให้ทราบว่าสถาปัตยกรรมที่ล้านนานั้น มีของสุโขทัยเป็นต้นแบบ เมื่อถ่ายรูปเสร็จแล้วจึงกลับไปเดินดูโบราณสถานต่อ ตอนนี้ทุกคนเริ่มแสดงอาการเหนื่อยล้าออกมาบ้างแล้ว
วัดศรีสวาย


วันนี้มีความแปลกคือมีพระปรางค์ 3 อันวางติดกันเป็นหลัก แต่เป็นวัดที่มีลายสมบูรณ์มาก มีทั้งลายที่เกิดจากปูนปั้น และการบากลายของขอม ที่ประดับอยู่ด้วยกันอย่างลงตัว แสดงให้เห็นว่างานสถาปัตยกรรมเองก็สามรถผสมผสานกันได้แม้ว่าจะคนละเชื่อชาติก็ตาม หลังจากที่เดินถ่ายรูปมาทั้งทุกคนเริ่มออกอาการเหนื่อยหน่ายและอ่อนล้า จึงมีกลุ่มที่เริ่มหาวิธีผ่อนคลาย ด้วยการกระโดดถ่ายรูปกันอย่างสนุกสนานพอให้ช่วยผ่อนคลายไปได้อีกแบบ
วัดศรีชุม
วัดแห่งนี้นับว่าแปลกพิสดารมากเพราะ การสร้างกำแพงหนาขึ้นมาล้อมรอบพระพุทธรูปที่องค์ใหญ่กว่าวิหารเสียอีก จากสิ่งนี้ทำให้คนสันนิฐานกันไปต่างๆนาๆว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ แต่ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ แต่สิ่งที่สำคัญอีกอย่างของวัดแห่งนี้คือต้นมะม่วงขนาดใหญ่มหึมาอายุกว่า 600 ปี ที่อยู่คู่กับวัดแห่งนี้มาอย่างเนิ่นนาน จากตรงนี้ข้าพเจ้าคิดว่า สถาปัตยกรรมนั้นยิ่งเวลาผ่านไปยิ่งเสื่อมสภาพลง แต่ธรรมชาตินั้นยิ่งเวลาผ่านไปยิ่งเจริญงอกงาม สองสิ่งที่ต่างกันนี้ได้มาอยู่ร่วมกันอย่างลงตัว น่าอิจฉาคนโบราณที่สามารถคิดสถาปัตยกรรมแบบนี้ได้ หลังจากเดินดูกันจนทั่วก็ได้ถ่ายรูปหมู่กันที่วัดศรีชุมแห่งนี้ ก่อนจะกลับที่พัก ด้วยความเหนื่อยอีกวัน

วันที่ 7

วันที่ 10 กรกฎาคม 2552 (วันแรกที่จังหวัดสุโขทัย)
สนามบินสุโขทัย

เช้านี้มาถึงยังสนามบินสุโขทัย สนามบินแห่งสร้างโดยอ้างอิงรูปแบบอาคารในแบบสุโขทัย ซึ่งจะแตกต่างกับแบบล้านนาที่ได้ดูตั้งแต่วันแรก มรการลดหลั่นชั้นหลังคาเหมือนกัน แต่องค์ประกอบประกอบบางอย่างหายไป เช่น แผงคอสอง และม้าต่างไหม(กลายเป็นขื่อ คาน และจันทันแทน) ที่สนามบินแห่งนี้เป็นสนามบินที่ไว้รองรับแขกพิเศษ เครื่องบินจะบินลงมาจอดที่ run way แล้วจากนั้นจะมีรถ วิ่งพาผู้โดยสารไปขึ้นเครื่อง เหตุนี้ทำให้สนามบินหลังนี้ จึงมีแต่เครื่องบินส่วนตัว หรือเครื่องบินที่ไม่ใช้ขนาดใหญ่มาใช้บริการ แม้ว่า run way จะมีความยาวพอสำหรับการ landing ของเครื่องบินขนาดใหญ่แล้วก็ตาม ทางพี่ปูผู้พาชมรู้ความต้องการของพวกเราเป็นอย่างดี จึงได้พอชมยังส่วนต่างๆพร้อมกับบรรยาย ไม่ว่าจะเป็นแนวความคิดของโครงการที่วางอาคารหันหน้าเข้า run way แล้วมีสระน้ำด้านหน้า ที่เปรียบเสมือนการเดินทางด้วยทางน้ำของคนสมัยก่อน ศาลาพักก่อนขึ้นเครื่อง ที่มีน้ำลอดใต้เปรียบเสมือนศาลาริมน้ำของบ้านภาคกลาง เรื่องของ runway หอบังคับการบิน หรือแปลงเพาะชำดอกกล้วยไม้ ที่ใช้ในการหมุนเวียนการตกแต่งโครงการ ก่อนจะนั่งรถไปถึงส่วนต้อนรับหลักที่ใช่ชื่อว่า SUKHOTHAI HERITAGE RESORT หรือclub houseของโครงการ ที่คลับแห่งนี้ประกอบไปด้วย ห้องอาหารที่พัก สระไว้น้ำ ห้องจัดเลี้ยง 3 ห้อง และส่วนนันทนาการ ที่คลับแห่งนี้ก็อ้าอิงรูปแบบอาคารของสุโขทัยเช่นกัน มีคลอง และกำแพงด้านหน้าขนาดใหญ่เปรียบกับกำแพงเมือง มีการวางอาคารให้โอบล้อมสระ ส่วนกลางทำให้แต่ละองค์ประกอบมองเห็นซึ่งกันและกัน แม้ว่าจะเลียนแบบวัสดุและรูปร่างของอาคารโบราณ แต่ก็มีการใช้วัสดุสมัยใหม่เช่น กระจก หรือกรอบหน้าต่างอลูมิเนียมทั้งนี้เพื่อตอบสนองกับ งานระบบปรับอากาศ เมื่อเดิมชมรอบๆ แล้วพบว่าเป็นอาคารโบราณที่ดูมีความทันสมัย แม้ว้ารูปทรงและที่ว่างจะเป็นของเดิมก็ตาม สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าผู้ออกแบบ มีความตั้งใจที่จะนำเสนอความเป็นสถาปัตยกรรมไทย หลังจากนั้นพี่ปูที่นำทัวร์ จึงพาไปทานอาหารที่ลานอาหารริมน้ำ ที่ลานแห่งนี้นั้นลมเย็นสบายมากเพราะมีลมที่พัด ไอเย็นๆ ของน้ำผ่านสุมทุมพุ่มพฤกษ์ เนื่องจาลานแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ทะเลสาบ และแทรกตัวอยู่ในต้นไม้ใหญ่ได้ลงตัว หากถามถึงข้อเสีย คงเป็นอาหารที่ช้าล่ะมั้ง หลังจากกินอิ่ม พี่ปูก็พาไปยังดูสถานที่สุดท้ายคือ หุ่นจำลองนครวัดจำลอง ก่อนจะล่ำลากันเพื่อไปยังที่ต่อไป
ศูนย์อนุรักษ์เตาสังคโลก

อากาศช่วงบ่ายที่สุโขทัยนี้ร้อนระอุมาก ที่ศูนย์อนุรักษ์เตาแห่งนี้ ถูกออกแบบโดยภูมิสถาปนิก โดยอาคารเป็นแบบสุโขทัย เป็นการออกแบบโดยการวางอาคารไว้บนเตาสังคโลกที่อยู่ใต้ดินเพื่อขุดเอาดินออกเหลือไว้เพียงเตาที่มีขนาดใหญ่ ไม่ให้โดยฝน โดนแดด และที่ทำให้ต้องใช้โครงสร้างที่มีช่วงเสากว้างเนื่องจากหลุมเตาสังคโลกมีขนาดใหญ่ เพื่อให้คลุมได้ทั้งหมด ที่ด้านหลังของศูนย์อนุรักษ์ มีบ้านไม้โบราณอยู่อีกหนึ่งหลัง หลังนี้เริ่มแตกต่างจากทางภาคเหนือด้วยส่วนต่างที่วางไม่เหมือนกันแต่อาจคล้ายกัน ทำให้เห็นว่าเมื่อต่างถิ่นไป รูปแบบต่างๆก็มีการเปลี่ยนแปลง ข้าพเจ้าเห็นพี่ๆปริญญาโทรทำการวัดส่วนต่างของบ้านอย่างละเอียด พร้อมทั้งยังสัมภาษณ์คุณตาที่อาศัยอยู่ ข้าพเจ้าคิดว่าข้อมูลที่พี่ๆเค้าทำนี้คงจะมีประโยชน์ในการออกแบบเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้สิ่งที่ดีที่สุดอย่างแน่นอน
วัดเจดีย์เก้ายอด


โบราณสถานแห่งนี้เป็นของศรีสัชนาลัยแต่ตั้งอยู่ด้านนอกของเมือง ถูกก่อสร้างด้วยศิลาแลง เสาแต่ละต้นนั้นไม้ใช่เสาที่เป็นเนื้อเดียวกันทั้งต้น แต่เป็นศิลาแลงที่มีขนาดเท่าๆ มาวางต่อๆกันขึ้นไปสิ่งเหล่านี้ถูกทำด้วยความตั้งใจของช่าง พวกเราเดินถ่ายรูปกันเก็บไว้เพื่อเก็บเป็นข้อมูลไปดูว่าช่างโบราณเค้าคิดอะไรเค้าต้องการจะสอนอะไรกับเรา ซากเหล่านี้คงใหญ่โตมโหฬารมากในอดีต แต่กาลเวลาก็ทำให้ทุกอย่างเป็นเพียงแค่สิ่งหลงเหลือ ต่อจากวัดนี้ไปเราจะใช้การเดินทางด้วยเท้า เพราะตอนนี้เราอยู่ในเขตอนุรักษ์ศรีสัชนาลัยซึ่งเป็นมรดกของโลกเรียบร้อยแล้ว
เขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย


การเดินทางด้วยเท้านี้ทำให้เราได้รับรู้ถึงสิ่งต่างๆได้มากกว่าการนั่งรถเพราะช้ากว่าเลยทำให้เราเห็นอะไรๆที่มากขึ้น เมืองศรีสัชนาลัยนี้ ก่อนจะเข้าเมืองต้องข้ามคูน้ำ และผ่านประตู กำแพงขนาดใหญ่ นี่คือการต้องความปลอดภัยของคนสมัยก่อน สมัยที่ยังมีการทำสงครามสู้รบกันอยู่ความปลอดภัยจากข้าศึกจึงเป็นเรื่องสำคัญ ในสมัยปัจจุบันความต้องการเหล่านี้กลับหายไปเปลี่ยนเป็นความต้องการในด้านของธุรกิจแทน ซึ้งข้าพเจ้าคิดว่ามันมีส่วนทำให้สังคมของเราเปลี่ยนไปเช่นกันไม่ใช่แต่กับสถาปัตยกรรม วัดที่ได้เข้ามาศึกษาในวันนี้มีมากมายหลายวัดแต่ละวัดล้วนแต่มีเรื่องของความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น คนสมัยโบราณนั้นใช้อิฐ ศิลาแลงในการก่อสร้างวัด หรือวิหารเนื่องจากให้ความสำคัญมากกว่าจึงใช้วัสดุที่แข็งแรงกว่า ต่างกับพระราชวังที่เป็นที่พักของพระมหากษัตริย์ที่ใช้ไม้ก่อสร้าง ทำให้ปัจจุบันจึงหลงเหลือไว้เพียงฐานพระราชวังที่ถูกก่อด้วยอิฐเท่านั้น หลังจากเดินดูจนครบแล้ว จึงขึ้นรถต่อไปยังสถานที่สุดท้ายของวันนี้ คือวัดพระศรีมหาธาตุเชลียง แต่เนื่องจากแดดของวันนี้เริ่มหมดแล้ว จึงได้ตกลงกันว่าพรุ่งนี้จะกลับมาที่นี่อีกครั้งในตอนเช้าตี 5

วันที่ 6

วันที่ 9 กรกฎาคม 2552
กลุ่มบ้านอนุรักษ์ล้านนา

ที่แรกของวันนี้นั้นเป็นกลุ่มบ้านอนุรักษ์ซึ่งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่นี่มีบ้านโบราณอยู่มากมาย โดยเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนา หรือภาคเหนือผสมอยู่ เช่น บ้านไทลื้อ เรือนกาแล เป็นต้น แต่สิ่งที่น่าสนใจของสถานที่แห่งนี้คือ บ้านแต่ละหลังเดิมทีไม่ได้ตั้งอยู่ที่บริเวณนี้ แต่ถูกถอด แล้วนำมาประกอบใหม่ทั้งหลัง และสวนใหญ่ก็มีคนอาศัยอยู่ด้วย ซึ่งจากตรงนี้ทำให้ข้าพเจ้าได้เห็นวิถีชีวิต ได้เห็นการใช้งานต่างๆเมื่อมีคนอยู่ หลังจากเดินดู และถ่ายรูป บ้านเรือน ภาคเหนือแบบต่างๆ เสร็จแล้วจึงมุ่งหน้าไปที่ต่อไป
ณ หมู่บ้านไทยพื้นถิ่นที่ไม่อาจระบุทางไปได้

หลงไปพักใหญ่กว่าจะมาถึงที่หมู่บ้านนี้ หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านที่อยู่กันแบบพึ่งพาตนเอง สร้างกันเองซ่อมกันเอง ทำให้ไม่แปลกใจที่จะได้เห็นแผ่นไม้ที่เหมือนจะเคยใช้เป็นอย่างอื่นมาก่อน มาใช้เป็นฝาบ้านที่ผุพังไป ชาวบ้านเหล่านี้เป็นบุคคลที่น่านับถือ พวกเค้าไม่เคยลืมตนเอง ยังคงอยู่แบบพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ ไม่ต้องพึ่งพาระบบอุตสาหกรรม ใช้เพียงวัตถุดิบที่มีที่หาได้ในท้องถิ่น รั้วบ้านที่ ถูกทำจากไม้ หรือไม้ไผ่ก็มีพืชผักสวนครัวเกาะเลื้อยไปทั่ว ทั้งให้ความสวยงาม และยังใช้ประโยชน์ได้ เป็นรั้วที่มีประโยชน์มากกว่ารั้วที่เป็นเพียงคอนกรีตเพียงอย่างเดียวซ้ำยังใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากกว่าอีกด้วย จากสิ่งเหล่านี้ทำให้ข้าพเจ้าประทับใจจึงเดินถ่ายรูปตาม อ.จิ๋ว จนเพลินลืมเวลา ความงามของระนาบฝาบ้านต่างๆที่วางเรียงรายกันไปโดยไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ แต่มันก็เกิดความงามในตัวของมันเองได้ ที่ว่างในบ้านบางหลังนั้นน่าสนใจมาก เพราะเป็นที่ว่างที่คนที่ไม่เคยเข้าไปสัมผัส เข้าใจได้ยากเพราะมันเป็นที่ว่างที่เกิดจากความต้องการในการใช้สอย หลังจากถ่ายรูปที่หมู่บ้านนี้เสร็จข้าพเจ้าและหมู่คณะก็มุ่งหน้าเข้าสู่จังหวัดสุโขทัย

วันที 5

วันที่ 8 กรกฎาคม 2552 (วันแรกที่เชียงใหม่)
วัดพันเตา

เช้านี้ข้าพเจ้าและหมู่คณะ เดินทางเข้ามายังตัวเมืองเชียงใหม่ ที่วัดพันเตา วัดแห่งนี้เดิมทีไม่ได้ตั้งใจจะสร้างให้เป็นวัด สังเกตได้จากพระวิหารหอคำหลวง ที่ไม่ได้มีผังอาคารเป็นรูปไข่ แต่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าธรรมดา แต่องค์ประกอบอื่นๆทุกอย่างยังคงเป็นแบบล้านนา เป็นวิหารไม้สักทั้งหลัง ที่ดูมีความขลัง และวิจิตรงดงาม ที่ด้านข้างหอคำนั้นมีไม้ไผ่ที่ถูกทำขึ้นเพื่อเป็นที่เสียบธงเหลืองซึ่งแสดงให้เห็นถึงประเพณี และวัฒนธรรมท้องถิ่น หลังจากฟังบรรยายจากอาจารย์จิ๋วเสร็จอาจารย์สุพัฒน์ (อ.เจง) ก็พาเดินไปยังที่ต่อไป
โรงแรม ยู เชียงใหม่

ที่หน้าโรงแรมแห่งนี้นั้น อ.เจง ได้บรรยายถึงความเป็นมาว่าแต่ก่อนที่ตรงนี้เป็นบ้านโบราณก่อนจะถูกปรับปรุงให้กลายเป็นโรงแรม เหตุที่อาจารย์จิ๋วให้มาดูโรงแรมแห่งนี้ เพราะโรงแรมแห่งนี้รู้จักการนำ ที่ว่าง ที่ดีมาปรับปรุงให้เข้ากับอาคารเดิม ระนาบคอนกรีตสีขาวเรียบๆช่วยเน้นทางเข้าให้ชัดเจน และหนักแน่น ระแนงแนวทแยง และกันสาดที่อยู่บริเวณโถงต้อนรับนั้นดูแล้วรู้สึกถึงความเป็นไทยที่ลงตัว แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถเข้าไปชมยังด้านในได้เพราะมีแขกพักอยู่ เพื่อไม่เป็นการรบกวนทางโรงแรม และนักท่องเที่ยว จึงถ่ายรูปและเยี่ยมชมแต่เพียงด้านหน้าเท่านั้น
วัดทุ่งอ้อ
วัดแห่งนี้เป็นวัดที่เก่าแก่ที่อยู่ในหมู่บ้าน ที่เหลือเพียงวิหาร กับเจดีย์เท่านั้นที่ยังเป็นของเก่าอยู่ วิหารแห่งนี้มีการหลอกสัดส่วนด้วย element ต่างๆที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ เนื่องจากวัดที่มีขนาดเล็ก ที่แตกต่างกับวัดอื่นๆอย่างชัดเจนเห็นจะเป็นทางขึ้นวิหารด้านหน้าที่ทั้งหนา และใหญ่ แต่ลายม้วนที่มีลายเรียบง่าย และบันไดที่สามารถลงจากบริเวณกึ่งกลางบันไดได้ วัดแห่งนี้ไม่มีระเบียงคด หลังจากถ่ายรูปตัววิหารเสร็จ ก็พอกันเดินไปยังด้วนหลังเห็นต้นไม้สูงใหญ่ ที่มาช่วยส่งเสริมให้วิหารดูเด่นมากขึ้น
วัดต้นแกว๋น

วัดแห่งนี้เป็นวัดที่ประกอบไปด้วยลานทรายที่เริ่มมีหญ้าเข้ามาปะปน วิหาร มณฑป และระเบียงคดที่เชื่อมต่อจากมณฑป เลื้อยมาล้อมรอบวิหาร วัดแห่งนี้มีขนาดเล็กระทัดรัด ทางเดินก่อนเข้าไปยังเขตวิหาร มีต้นปาล์มสูงโปร่งที่ให้ความรู้สึกที่โปร่งโล่ง เมื่อเข้าไปถึงจะพบมณฑปอยู่ด้านซ้าย มณฑปแห่งนี้คล้ายกับของที่วัดปงสนุก หากแต่เป็นสีไม้ไม่มีสีสันเหมือนวัดปงสนุก วิหารของวัดนี้บันไดมีพญานาค ส่วนด้วนในนั้นมีการใช้ที่ว่างคล้ายกับของที่วัดพระธาตุลำปางหลวง แต่แตกต่างกันตรงที่วัดแห่งนี้มีขนาดเล็กกว่า และมีการก่ออิฐทึบปิดวิหารโดยรอบ ภายในของวิหารแห่งนี้นั้นเป็นรูปไข่ และมีการหลอกในเรื่องของทั้งมุมมอง และสัดส่วนของอาคารอย่างแยบยลอีกด้วย ในด้านของมุมมองนั้น หลอกด้วยการเปลี่ยนปริมาตรของที่ว่างภายในช่วยให้องค์พระนั้นดูลึกกว่าที่เป็นอยู่จริง แต่เมื่อมองออกมาจากตำแหน่งขององค์พระแล้วก็จะไม่พบความผิดปกติ ส่วนในด้านของสัดส่วนนั้น ด้านหน้าของวิหาร ช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง และเหงานั้นถูกออกแบบในสัดส่วนที่ใหญ่กว่าปกติทั้งนี้ เพราะวัดมีขนาดเล็ก การบิดเบือนสัดส่วนเพื่อให้วัดมีขนาดใหญ่จึงเป็นเรื่องสำคัญ ลวดลายที่มีเฉพาะส่วนเท่านั้น สิ่งนี้ช่วยในการผลักระยะของวิหารให้ดูลึกยาว เมื่อมองจากรั้ววัดเข้าไป
โรงแรมราชมังคลา

โรงแรมแห่งนี้ลักษณะเด่นในการเล่นเกี่ยวที่ว่างที่เชื่อมต่อกัน โรงแรมแห่งนี้มีแนวความคิดในการออกแบบ คือความกลมกลืนกันของหลากหลายศิลปวัฒนธรรม โดยใช้สถาปัตยกรรมไทยเป็นหลัก เริ่มจากส่วนกลาง ที่บริเวณห้องเครื่องดื่มมีลักษณะเป็นแบบจีน มีลานตรงกลางช่วยเชื่อมกับ ห้องอาหารที่มีลักษณะเป็นไทย ที่ชั้นบนของหลังนี้มีพิพิธภัณฑ์ ดาบโบราณ เครื่องกระเบื้อง และส่วนขายของที่ระลึก ถัดมาเป็นส่วนที่พัก ห้องพักที่นี้ถูกจัดมาอย่างเรียบง่านแต่ดูหรูหรา ห้องนอนแต่ละห้องนั้นจัดเรียงอยู่ล้อมรอบลานโล่งตรงกลาง และถูกเชื่อมกับสวนถัดไปด้วยอาคารที่มีลักษณะเป็นวิหารแบบล้านนาขนาดย่อม ก่อนจะเข้าสู่สวนสุดท้าย คือสวนสนับโครงการ เช่น สระว่ายน้ำ ห้องสมุด ลานนั่งเล่น เป็นต้น ที่โรงแรมแห่งนี้ สัดสวนความเป็นไทย ต่างๆถูกนำมาใช้อย่างผ่านการกลั่นกรองซึ่งรวมไปถึงรายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละส่วนอีกด้วย

วันที่ 4

วันที่ 7 กรกฎาคม 2552
วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม

วัดแห้งนี้มีส่วนที่เป็นทั้งวัดแบบเก่าและใหม่ ส่วนแรกที่พวกเราไปดูนั่นคือวัดเก่า วัดนี้เป็นวัดแรกที่มีองค์ประกอบด้านโครงสร้าง และลวดลายต่างๆอย่างครบถ้วน จากการบรรยายของอาจารย์จิ๋วทำให้ข้าพเจ้าได้ทราบถึงเหตุผลต่างๆ ในการเลือกใช้รูปแบบของการสร้างอาคารไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้เสาสี่เหลี่ยมที่อยู่ด้านหน้าซึ่งดูไม่เข้ากับองค์ประกอบอื่นๆเท่าใดนักแต่เนื่องจากประตูที่มีลักษณะเป็นสี่แหลี่ยมเสาข้างประตูจึงเป็นสี่เหลี่ยมตามไปด้วย ถัดมาเป็นเสาที่ถัดออกไปมีรูปทรงเป็นเสาสอบแปดเหลี่ยม โดยมีเหตุผลในการใช้ว่าม้าต่างไหมด้านหน้าที่วิ่งมาชนเสานั้นจะได้วิ่งเข้ามาชนกับระนาบที่ตั้งฉากเพื่อให้ดูลงตัว และเสาสอบทรงกลมซึ่งอยู่ด้านที่อยู่แนวเดียวกับเสาแปดเหลี่ยมด้านนอกแต่มีลักษณะไม่เหมือนกัน เพื่อให้คนที่เข้าไปใช้รู้สึกว่าที่ว่างไหลลื่นไปทั่ววิหาร แผงคอสองที่ยื่นมาด้านหน้าก็ต้องมีไม้ที่ถูกแกะให้เป็นปากนกแก้วมาเป็นตัวจบ การใช้ปูนปั้นแทน นาคสะดุ้งและเหงา บันไดด้านหน้าก็เป็นบันไดผายออกให้ความรู้สึกดึงดูดเข้าไป สวนหลังถัดมาที่อยู่ด้านนอกรั่ววิหารหลังแรกมีความแตกต่างจากหลังแรกตรงมีชานระเบียงก้านหน้าและที่ประตูมีเทวดาสองตน หลังจากนั้นข้าพเจ้าก็เดินดู และถ่ายรูปลานรอบวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม ทำให้พบว่าที่วัดนี้มีรูปปั้นที่อยู่ตามมุมต่างๆของวัดเยอะกว่าวัดอื่นๆ อีกอย่างที่มีความพิเศษของวัดนี้คือ มณฑปพม่า ที่มีลักษณะแปลกพิเศษ เนื่องจากได้รับวัฒนธรรมตะวันตกมา สิ่งที่ถูกใช้ประดับมณฑปแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยสิ่งแปลก เช่น ฝ้าเพดานคิวปิด หรือตราสัญลักษณ์แบบฝรั่งเศส ที่ทำให้ดูแปลกตาไปอีกแบบ
วัดปงสนุก

วัดแห่งนี้เป็นวัดที่สองที่ได้มาดูในวันนี้ ทางเข้าเป็นบันไดสูง มีความพิเศษที่สังเกตได้จากทางเข้า คือการวางเจดีย์ที่เยื่องกับทางเข้า ซึ่งทำให้เมื่อเดินเข้าไปรู้สึกอยากเดินไปทางขวา เพราะทางขวามีที่ว่างกว่า บนนี้มี เจดีย์ ลานทราย มณฑป และวิหารพระนอน มณฑปของวัดปงสนุกแห่งนี้มีโครงสร้างพิเศษที่มีความสลับซับซ้อนกว่าวัดอื่น ซึ่งมองจากรูปด้านแล้วหลังที่เป็นจั่วยื่นออกมานั้น มีลักษณะลาดลงเข้าหากลางมณฑปทั้งนี้เกิดจากขื่อพิเศษที่ช่วยให้สันหลังคาลาดชันได้ ด้านในของมณฑปนี้นั้นมีพระพุทธรูปที่ตั้งหันหน้าออก ทั้ง 4 ด้านตามทิศ 4 ทั้งทิศ พร้อมด้วยสัตว์ประจำทิศทั้ง 8 ข้าพเจ้าและหมู่คณะพักเพื่อดูโครงสร้างที่พิสดารนี้อยู่พักใหญ่ก่อนจะเดินทางไปยังสถานที่ต่อไป
วัดศรีรองเมือง

วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยพม่า ในสมัยที่อังกฤษได้สัมปทานป่าไม้สักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ไม่สักเหล่านั้นถูกนำมาใช้สร้างวัดแห่งนี้ วัดนี้เดิมชื่อวัดคราวน้อยพม่า สร้างขึ้นในพ.ศ. 2448 โดยใช้เวลาสร้างถึง 7 ปี ความสวยงามของวัดนี้อยู่ที่ความสวยงามวิจิตรการตา หลังคาที่มียอดแหลมถึง 9 ยอด จั่วที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ โดยแต่ละยอดแสดงถึงความศรัทธา ของแต่ละครอบครัวที่มีจิตศรัทธาสร้าง วัดพม่าแห่งนี้แตกต่างกับวัดไทยตรงที่ วิหาร กุฏิ และศาลาการเปรียญ ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ชายคาเดียวกัน ส่วนเชื่อมต่อของหลังถูกคิดมาอย่างดีเพื่อกันไม่ให้น้ำรั้ว แนวความคิดในการออกแบบวัดแห่งนี้ คือ สรวงสวรรค์ทั้ง 7 ชั้น เสากลมทั้งหลายภายในวัดใช้กระจกเป็นสีๆ แผ่นเล็กๆในการตกแต่งอย่างประณีตสิ่งเหล่านี้ทำให้เสาแต่ละต้นมีความวิจิตรงดงาม ว่ากันว่าวัดนี้เป็นวัดพม่าโบราณไม่กี่แห่งที่หลงอยู่ เนื่องจากวัดดั้งเดิมในพม่านั้น ถูกการบูรณะที่ขาดความรู้ และถือคติพังก็ซ่อม ทำให้ของเดิม หายไปตามการซ่อมแซมอย่างรวดเร็ว หลังจากกินข้าว และถ่ายรูปที่วัดแห่งนี้เสร็จแล้ว ก็ออกเดินทางไปเป้าหมายต่อไป
หมู่บ้านยองโบราณ

ที่หมู่บ้านยองนี้ มีบ้านที่ถูกสร้างขึ้นโดยช่างไม้โบราณอยู่หลายหลัง แต่เนื่องจากเวลานี้ใกล้จะมืดแล้วในครั้งนี้บ้านที่พวกเราได้ดูมีจึงมีเพียง 3 หลังด้วยกัน ซึ่งทั้ง 3 หลังนี้เป็นบ้านไม้ที่งานประณีตและเรียบร้อยมาก หลังแรกที่ไปดูนั้น ถูกสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2482 มีขนาดปานกลางไม่เล็กไม่ใหญ่ เป็นบ้านยกใต้ถุนสูง ด้านล่างมีระแนงไม้ที่ใช้ล้อมพื้นที่ด้านล่างในการเลี้ยงสัตว์อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อนเจ้าของบ้านได้ชักชวนให้ไปดูข้างบน จึงทำให้ข้าพเจ้าได้เห็น ที่ว่างกลางบ้านที่เป็นสวนเชื่อมต่อกันขององค์ประกอบต่างๆ ที่ลงตัวมาก ด้านหลังเป็นครัวและที่เก็บของที่เปิดโล่ง ส่วนหลังที่สองนั้นไม่มีคนอยู่จึงไม่ได้ขึ้นไปดูแต่หลังที่สองนั้นมีช่องลอดระหว่างเรือนที่น่าสนใจ และสวนหน้าบ้านที่มีการจัดตกแต่งโดยการเน้นระนาบในแนวตั้ง และหลังสุดท้ายเป็นบ้านของคุณยายใจดีท่านหนึ่ง ที่หลังสุดท้ายนี้นั้นข้าพเจ้ารู้สึกว่าสวนสวยที่สุดในบรรดา 3 หลัง และพอเมื่อเดินขึ้นบ้านไป แล้วพบว่ามีการแจกเป็น 2 ทาง คือ ทางซ้ายไปยังส่วนที่เป็นโถง ซึ่งจะสามารถแจกไปยัง ห้องนอน 2 ห้อง ที่นั่งเล่น 2 ที่ ส่วนทางขวานั้นจะเป็นห้องครัว ห้องเก็บของ และเมื่อเดินทะลุส่วนแจกนี้ไปจะพบกับระเบียงกลังบ้านและห้องน้ำอยู่บนระเบียงนี้ วิวที่สามารถมองได้จากระเบียงนี้ก็คือทิวทัศน์ของวัด ที่อยู่ใกล้ๆ หลังจากเดินถ่ายรูป และคุยกับคุณยายจนมืดค่ำข้าพเจ้าและหมู่คณะก็เดินทางกลับไปยังที่พักแห่งใหม่ที่สนามกีฬา 700 ปีเชียงใหม่

วันที่3

วันที่ 6 กรกฎาคม 2552
หมู่บ้านทุ่งกว๋าว

เช้าวันนี้เรามาศึกษาความเป็นท้องถิ่น ณ หมู่บ้านๆหนึ่ง นั่นคือหมู่บ้านทุ่งกว๋าว ที่หมู่บ้านแห่งนี้นั้น บ้านที่อยู่ที่นี้เป็นอาคารไม้ซะส่วนใหญ่แม้เสาที่เป็นฐานจะมีบางหลังเป็นคอนกรีตบ้างแล้ว วันนี้อากาศยังคงชื้นต่อเนื่องมาตั้งแต่สองวันก่อน ทำให้ภาพที่เก็บได้จากหมู่บ้านทุ่งกว๋าวนั้นแม่ท้องฟ้าจะอึมครึมเมฆหมอกเยอะ แต่ก็ได้ความเขียวสดชื่น จากความชุ่มชื้น บ้านส่วนใหญ่ที่หมู่บ้านแห่งนี้เป็นเรือนเครื่องสับ ไม่ค่อยจะมีเรือนเครื่องผูกเท่าไหร่นัก องค์ประกอบของบ้านแต่ละหลังคล้ายคลึงกับที่ได้ไปดูมาเมื่อวานคือ ลาน และสวนขนาดย่อมหน้าบ้านที่เป็นส่วนเชื่อมต่อกับสถานที่อื่นๆบางหลังก็จัดได้สวยจนเทียบกับสวนญี่ปุ่นสวยๆได้เลยทีเดียว บันไดที่ขึ้นไปแล้วเจอกับประตูบ้าน ถัดเข้าไปด้านในก็เป็นห้องนั่งเล่น หรือห้องครัวแล้วแต่ผู้ใช้ มียุ้งข้าว และห้องน้ำแยกออกไป ข้าพเจ้าเดินถ่ายรูปบ้านแต่ละหลัง โดยมีเด็กน้อยพื้นถิ่นช่วยนำทาง จนกระทั้งไปทะลุออกด้านหลังหมู่บ้าน สิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าตอนนั้น ทำให้ข้าพเจ้าประทับใจกับความสวนของทุ่งนาที่อยู่ท้ายหมู่บ้านมาก เป็นช่วงที่ชาวนาเริ่มนำต้นกล้าที่โตพอแล้วไปดำนา ทุ่งหญ้าที่เขียวสดชื่นนั้นข้าพเจ้ารู้ว่าประทับใจมาก จนไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูด หรือเก็บด้วยรูปถ่ายได้ ที่ทุ่งกว๋าวนี้ข้าพเจ้าจึงใช้เวลาอยู่ที่ทุ่งนาด้านหลังนี้เป็นซะส่วนใหญ่ ก่อนจะใช้เวลาช่วงหลังกับการเดินถ่ายภาพรั้วบ้าน ที่มีพืชผักสวนครัว ประดับอยู่อย่างกลมกลืน เป็นสิ่งปลูกสร้างที่มนุษย์ และธรรมชาติช่วยกันสร้างขึ้น
หมู่บ้านปลายนา

พระรูปหนึ่งที่ได้พบที่บ้านทุ่งกว๋าวนั้น ได้พาพวกข้าพเจ้าไปยังวัดปลายนาซึ่งอยู่ภายในหมู่บ้านปลายนา ข้าพเจ้ากินข้าวกันที่ศาลาของวัดแห่งนี้ หลังจากกินข้าวกันเสร็จแล้ว พระรูปนี้ก็ได้พา เดินชมหมู่บ้านและบ้านโบราณหลายต่อหลายหลัง ที่หมู่บ้านแห่งนี้ก็มีความคล้ายกับหมู่บ้านก่อนหน้านี้แตกต่างตรงที่หมู่บ้านนี้มีถนน ที่ใช้เดินไปยังตรอกซอยต่างที่เป็นคอนกรีต มีหอนาฬิกา จากตรงนี้ทำให้เห็นว่าหมู่บ้านแห่งนี้มีการวางผังที่หมู่บ้านแห่งนี้มีทุ่งนาเช่นกัน แม้จะไม่สวยเท่าทุ่งกว๋าวแต่ก็ยังคงรักษาความเขียวสดเอาไว้ หลังจากที่ถ่ายรูปที่หมู่บ้านนี้เสร็จ ก็แวะบ้านกลังหนึ่งที่อยู่กลางทุ่งนา ที่บ้านหลังนี้แม้จะไม่ใหญ่โตแต่ก็มีการเล่นที่ว่างได้น่าสนใจมาก โครงสร้างหลังคาก็ไม่ธรรมดา คือเสาที่ขึ้นมารับโครงสร้างหลังคานั้นไม่ได้ใช้เพื่อวางพาดขื่อ หรืออะเสอย่างเดียว แต่ใช้รับค้ำยันจากหลากหลายทิศทาง ก่อนจะช่วยกันซื้อลำไยจากคุณยายเจ้าของบ้าน ต่อจากนั้นนั่งรถมาอีกพักเดียวก็แวะลง ไปดูบ้านที่หลังคาถูกมุงด้วยหญ้าแฝก ข้าพเจ้าไม่ได้เข้าไปภายในเพราะคนเยอะมากแต่ก็ยังได้ทานเม็ดขนุนจากเจ้าของบ้าน ณ ที่บ้านหลังนี้มีเหตุการณ์น่าตื่นเต้นอยู่ คือมีพี่ปริญญาโท คนหนึ่งที่ถูกรถมอเตอร์ไซค์ของชาวบ้านชน แต่โชคดีที่รถไม่ได้มาเร็วทำให้พี่คนนั้นไม่ได้รับบาดเจ็บมาก
วัดข่วงกอม

วัดแห่งนี้ถูกออกแบบโดยสถาปนิกท่านหนึ่ง มีรั้วด้วนหน้าเป็นอิฐก่อ ส่วนตัววิหารส่วนใหญ่สร้างจากไม้ กลุ่มเรือนอาศัยที่ถูกออกแบบด้วยไม้นั่น อยู่เข้ากลมกลืนกับธรรมชาติแต่อาจเนื่องด้วยที่มีข้อจำกัดเรื่องต้นไม้ที่ขึ้นเลยคิดว่า อาจเป็นเหตุทำให้เรือนหมู่แห่งนี้ มีสัดส่วนที่ค่อยข้างจะผิดเพี้ยน ดูแล้วไม่คุ้นเคย หากแต่ที่น่าสนใจคือ กลุ่มบ้านที่อยู่ด้านหลังบริเวณนั้น การจัดสวนเล็กที่ดูเข้ากันกับบ้านหลังนั้น สวนที่อยู่หน้าบ้านก็มีความงามในการจัดวางที่ลงตัว หลังจากนั้นจึงได้พากันเดินลุยโคน และข้ามสะพานไม้ที่มีแม่น้ำไหลผ่านออกไปยังนาด้านหลัง ที่ตรงนั้นก็เขียวสดน่าประทับใจเหมือนเดิม ก่อนจะสิ้นแสงของวันนี้ก็ได้กลับไปถ่ายยังวิหารวัดข่วงกอมที่เปิดไฟแล้วก็ให้ความสวยงามไปอีกแบบ

วันที่ 2

วันที่ 5 กรกฎาคม 2552

วัดไหล่หิน

วัดนี้นั้นมีความน่าสนใจในการหลอกมุมมองในเรื่องของสัดส่วนที่หลอกให้คนที่เข้ามาชม รู้สึกเหมือนวิหารหลังนี้มีความใหญ่โต โดยใช้หลักการในการเปรียบเทียบสัดส่วน เช่น สิงห์คู่ด้านหน้าวัดนั้นมีขนาดเล็กกว่าความเป็นจริง ซุ้มประตูวัดที่มีลวดลายมาก หลังคาวัดที่ใช้กระเบื้องขนาดเล็ก ต้นยางด้านหลังที่มีขนาดพอๆกับวิหาร และรั้วกำแพงที่ไม่สูง ซึ่งพอมารวมกันทุกอย่างแล้วทำให้วิหารดูมีขนาดใหญ่กว่าความเป็นจริง แต่พอเมื่อเดินเข้าไปด้านในแล้ว ก็จะพบว่าจริงแล้วอุโบสถมีขนาดเล็กไม่ใหญ่โตเหมือนที่เห็นในตอนแรก ที่วัดไหล่หินแห่งนี้นอกจะมีการเล่นกับสัดส่วนที่น่าสนใจแล้ว สภาพโดยรอบยังคงดูมีความเป็นของเดิมอยู่ อย่างเช่น ลานทรายรอบๆบริเวณวัดที่มีความแตกต่างจากลานดินของบ้าน ซึ่งลานทรายเหล่านี้เกิดขึ้นจากการออกกุศโลบายของวัดที่ว่าเวลาคนมาทำบุญที่วัดแล้วเดินเหยียบย่ำทรายเหล่านี้ เมื่อกลับไปทรายของวัดที่เป็นของส่วนรวมก็ติดเท้ากลับไปด้วย ดังนั้นเพื่อไม่เป็นการเบียดเบียนส่วนรวมชาวบ้านที่มาทำบุญก็จะมีการนำทรายมาถวายคืนสู่วัดจึงเกิดเป็นลานทรายหน้าวัด ตะไคร้ต่างๆที่เกาะตามกำแพงผนัง คราบน้ำ ความเก่า สิ่งเหล่านี้ทำให้อาคารเก่า ดูขลัง เป็นความงามผ่านกาลเวลา ซึ่งแตกต่างกับอาคารในสมัยใหม่ที่เมื่อเวลาผ่านไป เกิดคราบน้ำฝน เกิดรอยด่างดำขึ้น อาคารเหล่านั้นกลับดูสกปรกทรุดโทรมไม่น่าอยู่เหมือนเมื่อตอนสร้างเสร็จใหม่ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้ออกแบบในปัจจุบันส่วนใหญ่กลับมองข้ามไป อาคารหลังอื่นๆที่อยู่ใน กำแพงวิหารก็มีความเข้ากันทั้งเรื่องสัดส่วน และสีสัน รวมไปถึงวัสดุที่ใช้มีความคล้ายคลึงกัน อาคารเหล่านั้นจึงมีความเป็นหนึ่งเดียวกับวิหาร ด้านในวิหารนั้นเนื่องจากที่พระองค์ใหญ่มาก ขื่อซึ่งปรกติจะวางพาดเสา ก็ถูกยกขึ้นเพื่อไม่ให้บังองค์พระ คนสมันก่อนมีวิธีการแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างได้อย่างน่าสนใจทีเดียว สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจถึงสิ่งที่คิดมาเป็นอย่างดี

วัดพระธาตุลำปางหลวง

วัดแห่งนี้มีขนาดใหญ่มากซึ่งต่างจากวัดไหล่หินโดยสิ้นเชิง ผู้ออกแบบวัดนี้เข้าใจที่ว่างเป็นอย่างดี ทำให้วัดนี้มีลูกเล่นเกี่ยวกับที่ว่างต่างๆเยอะมาก บันไดด้านหน้าที่ทอดยาวลงมายังด้านล่างพยานาค และสิงห์มีความใหญ่โตมาก พอขึ้นบันไดไปจะมองเห็นประตูวิหารอยู่ตรงหน้าให้ความรู้สึกที่ตื่นเต้น และน่าค้นหา พอเดินมาถึงซุ้มประตูพบว่าระยะห่างของซุ้มกับทางเข้าอุโบสถห่างกันเพียงนิดเดียวจนรู้สึกกระชั้นเข้ามาด้านหน้า รู้สึกโดนบีบอัด และก้าวขึ้นไปยังส่วนบนวิหารกลับรู้สึกโปร่งโล่ง เสากลมที่มีขนาดใหญ่วางอย่างเป็นระเบียบนำสายตาเข้าสู่องค์พระ โครงสร้างต่างๆที่มีความเฉพาะตัวของล้านนา อาทิเช่น ม้าต่างไหม แผงคอสอง และอื่นๆ ที่ทำให้สถาปัตยกรรมแบบล้านนามีความพิเศษเฉพาะตัว รอบๆบริเวณแห่งนี้ได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสมัย ลานทรายสมัยก่อเริ่มหายไป มีบางส่วนกลายเป็นกระเบื้องไปบ้างแล้ว วิหารคด และวิหารอื่นๆรอบๆ บางหลังถูกบูรณะใหม่ หอสรงน้ำพระกำลังจะถูกรื้อออกสิ่งเหล่านี้ ทำให้เหล่าครูอาจารย์ ที่เข้าร่วมในการเดินทางครั้งนี้มีการพูดคุยกันถึงในรายละเอียดของเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง ว่าเหตุใดทำไมอาคารที่ถูสร้างใหม่นั้นขาดความเป็นของเก่าไป ดูแล้วไม่ได้รู้สึกถึงความเป็นของเดิม การบูรณะที่เกิดขึ้นนี้ดีจริงหรือ? การที่เห็นซากปรักหักพังแล้วต่อเติมจนเต็มนั้นรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่ใส่เข้าไปนั้นถูกต้อง เอาสิ่งใดมาเป็นหลักฐาน ถ้าไม่มีหลักฐานแล้วใส่เข้าไปทำไม แล้วลายระเอียดบางอย่างอาจเก่าเกินไปเลยต้องบูรณะใหม่ด้วยการลบของเก่าทิ้งนั้น นั่นไม่เท่ากับเป็นการทำลายงานครูหรือ กล่าวคือหากทราบว่าทำแล้วจะไม่เหมือนเดิมแล้วก็ไม่ควรทำ ด้านแนวความคิดอีกด้านก็กลับบอก ว่าหากมีการบูรณะก็สามารถทำได้แต่ต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และยังคงสามารถรักษารายละเอียดคงเดิมไว้ได้ ก็สามารถที่จะบูรณะได้ จากที่กล่าวอาจไม่ชัดเจนว่าแตกต่างกันมากเท่าไหร่แต่หากจะยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้น ก็คือด้านหนึ่งกล่าวว่าถ้าจะอนุรักษ์ก็ทำได้ สามารถปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยได้แต่สิ่งที่เป็นความงามเส้นสาย และสัดส่วนต่างๆ ก็ควรรักษาให้คงเดิมไว้นั่นคือการปล่อยให้โบราณสถานต่างๆเปลี่ยนไปตามยุคสมัยโดยการพยายามรักษาของเดิมไว้ให้ดีที่สุดนั่นเอง ส่วนอีกด้านคือการอนุรักษ์บริสุทธิ์ คือ เปรียบเสมือนการเอากล่องกระจกมาครอบโบราณสถานเหล่านั้นไว้ ไม่ควรไปบูรณะหรือต่อเติมใดๆทั้งสิ้น หากแต่ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติมันจะบุบสลายก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามนั้น ซึ่งหากว่ากันตามจริงแล้วคงไม่มีฝ่ายไหนถูกหรือผิด หากแต่ข้าพเจ้าคิดว่ามันขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในโครงการนั้นๆ เช่น หากต้องการเก็บความเป็นดั้งเดิมเอาไว้ ลูกหลานรุ่นหลังก็อาจจะนึกภาพไม่ออกว่าเป็นแบบใด ดังนั้นต้องดูว่าสิ่งที่ต้องทำคืออะไร หลังจากที่เสร็จจากวัดพระธาตุลำปางหลวง ที่ก่อนหน้าจะขึ้นรถโดนอาจารย์จิ๋วไล่ลงไปถ่ายรูปหอสรงพระอีกรอบก่อนที่เค้าจะทุบทิ้งอย่างน่าเสียดาย

ณ วัดปงยางคก วัดนี้นั้นไม่ได้มีลานทรายเหมือนวัดอื่นๆ แต่เป็นลาดกรวดแทน ซึ่งทำให้ดูแปลกตาออกไปนั้น ที่วิหารพระแม่เจ้าจามเทวีของวัดแห่งวัดนี้เองยังมีร่องลอย การฟันดาบเมื่อปีพ.ศ. 2273 อีกด้วย วิหารของวัดแห่งนี้นั้นเป็นวิหารที่สร้างจากไม้ และมีผนังบางส่วนเป็นก่ออิฐ ซึ่งวิหารหลังนี้นั้นไม่มีฐานวิหาร ทำให้พอมองจากภายนอกวิหารพบว่ารู้สึกเหมือนที่ว่างภายในคับแคบถูกบีบอัด แต่พอเข้าไปด้านในก็รู้อาคารสูงโปร่ง สิ่งเหล่านี้ช่วยเพิ่มความรู้สึกประหลาดใจ ซึ่งความรู้สึกนี้ช่วยเพิ่มความขลังให้กับองค์พระภายในวิหาร คันทวยของวิหารแห่งนี้มีหลายหลายแบบไม่ค่อยซ้ำกันแต่ยังคงมีความคล้ายคลึงกันอยู่ ส่วนวิหารใหม่ด้านข้างมีความแตกอย่างสิ้นเชิงกับวิหารใหม่ที่อยู่ข้างเคียง ที่มีความวิจิตรงดงามสีสันชัดเจน อย่างสิ้นเชิง จากส่วนตัวของข้าพเจ้าแล้ววิหารเก่านั้นยังคงมีความขลังมากกว่าวิหารใหม่ ภายในวิหารพระแม่เจ้าจามเทวีนั้นยังมีสิ่งสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความศรัทธา อีกอย่างคือรูปแจกันที่มีดอกไม้อยู่ซึ่งลายแจกันดอกไม้นี้อยู่บริเวณผนังทั้ง 2 ฝั่งรอบตัวพระ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะบูชาองค์พระทุกๆวัน ดอกไม้ที่ไม่มีทางแห้งเหี่ยว หรือร่วงโรยง่ายๆเหล่านี้ ก็เปรียบเสมือนพลังศรัทธาของศิลปินผู้สร้างนั่นเอง

กลุ่มบ้านไม้ริมทางขากลับเข้าที่พัก เป็นบ้านไม้ที่อยู่กันแบบไทยพื้นถิ่น ตัวบ้านนั่นสร้างด้วยไม้ทั้งหมดแม้กระทั้งเสาฐานรากเองก็ตาม เป็นบ้านที่มีองค์ประกอบง่ายๆ หน้าบ้านขึ้นไปจากบันไดเป็นส่วนรับรอง มีห้องนอน และครัวอยู่บนบ้าน ส่วนห้องน้ำนั้นแยกออกไปด้านข้างตัวเรือน มีการอยู่กันหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นแบบบ้านเดี่ยว หรืออยู่กันเป็นระบบเครือญาติทุกหลังจะมีลานดิน ถ้าเป็นกลุ่มบ้านลานดินจะทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมที่ว่างต่างให้เกิดการเชื่อมต่อกัน มีการจัดสวนที่สำหรับข้าพเจ้าเองเห็นแล้วตกใจว่าขนาดข้าพเจ้าเรือนยังจัดไม่ได้ขนาดนี้เลย เป็นอีกครั้งที่ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจกับประสบการณ์ความงามของชาวบ้าน หลังจากดูกลุ่มบ้านไม้ไป3-4หลังก็กลับเข้าที่พัก

วันแรกของการเดินทาง

Trip ความรู้ กับอาจารย์จิ๋ว


วันที่ 4 กรกฎาคม 2552 (วันแรกที่ออกเดินทางสู่จังหวัดลำพูน)
ชนชาวเหนือ ณ บ้านสวนแก้ว จังหวัดสระบุรี
บ้านสวนแก้วที่ได้ไปดูนั้น เป็นบ้านไทยพื้นถิ่นที่มีอาคารเป็นไม้ แต่หลังคาเป็นสังกะสี อันเนื่องมาจากกระเบื้องดินเผาที่เคยผลิตนั้นหายไปจากเดิมเป็นจำนวนมาก ทำให้หาซื้อมาใช้ได้ยากจึงประยุกต์วัสดุให้กลายมาเป็นสังกะสีที่สามารถหาซื้อได้ง่ายกว่าในท้องถิ่น ซึ่งแม้วัสดุจะถูกเปลี่ยนแปลงไปแต่ความเป็นพื้นถิ่นนั้นยังคงมีอยู่
บ้านสวนแก้วหลังนี้ มีการสร้าง “ที่ว่าง” ได้อย่างน่าสนใจมากแม้วัสดุมุงหลังคาได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ตาม เพราะวัสดุเดิมหาได้ยากการนำวัสดุที่หาได้ง่ายกว่าในท้องที่นั้นๆก็เป็นอีกหนึ่งความสามารถของคนไทย บ้านหลังนี้เมื่อเดินผ่านรั้วบ้านที่มีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นปลกคลุมได้อย่างกลมกลืนเข้าไปแล้วนั้น ก็จะพบกับศาลาไม้ ที่ถูกตั้งอยู่ให้ค่อมกับธารน้ำที่ไหลผ่านอยู่ด้านล่าง โดยพื้นของศาลานั้นเป็นแผ่นไม้ที่ถูกวางให้มีระยะห่างเพื่อที่จะเดินผ่านไปพร้อมกับเห็นสายน้ำที่ไหลอยู่ด้านล่าง พอผ่านศาลามาแล้วนั้นจะพบกับลานดินโล่ง ที่ถูกล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ และอาคารไม้ ที่ลานนี้ประกอบไปด้วย ที่นั่งไม้ เกวียนไม้ และสิ่งของต่างๆที่ช่วยทำให้ลานดินนี้ ดูเย็นสบายและน่านั่งเล่น เมื่อมองผ่านลานดินนี้ไปในระดับสายตาก็จะเห็นใต้ถุนบ้านที่ถูกยกขึ้น ใต้ถุนนี้ถูกใช้เป็นพื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์ต่างๆ เช่น หมา นก ไก่ และยังถูกใช้เป็นพื้นที่เก็บข้าวของต่างๆนาๆ ไม่ว่าจะเป็น เกวียน สามล้อถีบ ชะลอม ตะกล้า ฯลฯ เมื่อเดินผ่านเข้าไปภายในบริเวณบ้านก็จะเห็นโรงสีข้าวเล็กๆ อยู่ด้านข้าง แต่จากสภาพปัจจุบันคงไม่มีการใช้สอยพื้นที่นี้แล้ว ซึ่งทางเดินที่จะเข้าไปยังส่วนด้านหลังของบ้านนี้ ก็จะเห็นใต้ถุนที่มีนกนาๆชนิดที่ถูกเลี้ยงไว้ตลอดทาง จนกระทั้งผ่านซุ้มประตูไม้ที่มีต้นไม้ประดับอยู่เข้าไป ก็จะพบกับส่วนด้านหลังบ้านที่มีความสงบ มีการใช้ที่ว่างได้อย่างนาสนใจ ไม่ว่าจะเป็นสะพานที่ข้ามผ่านคูน้ำกลางบ้านแล้วสามารถผ่านขึ้นไปบนบ้านได้ หรือจะใช้เดินต่อไปยังบึงด้านหลังบ้านที่ถูกล้อมรอบไปด้วยอาคารริมน้ำช่างร่มเย็นและน่าพักผ่อนที่สุดได้ อาคารริมน้ำต่างๆที่ถูกวางเรียงไล่ระดับได้อย่างมีจังหวะ อันทำให้ระนาบต่างๆ ถูกไล่ไปตามสายตาอย่างราบลื่น ชานระเบียงที่ยื่นลอยเข้าไปในบึงหลังบ้าน สิ่งเหล่านี้ในปัจจุบันก็ยังคงมีการใช้ที่ว่างในลักษณะนี้อยู่ เพียงแต่วัสดุที่ใช้ถูกเปลี่ยนกลายเป็นคอนกรีต เหล็ก ไม่ใช่วัสดุที่หาได้ตามท้องถิ่น หากแต่เป็นวัสดุที่มาจากการผลิตในระบบโรงงาน
หลังจากถ่ายรูปจนครบถ้วนก็ได้เดินข้ามต่อมายังฝั่งตรงข้ามที่เป็นพิพิธภัณฑ์เรือของแม่น้ำป่าสัก เราพักกินข้าวกันที่นี่ที่ตั้งนั้นอยู่ติดริมแม่น้ำป่าสัก ทำให้ได้บรรยากาศริมแม่น้ำที่ทำให้ความเหนื่อยอ่อนหายไป โดยตัวเรือนสร้างด้วยไม้ทั้งหมด และบริเวณแพที่ข้าพเจ้าลงไปนั่งกินข้าวนั้นเป็นเรือนเครื่องผูกโดยสร้างจากไม้ไผ่ อาคารแต่ละหลังถูกวางให้ลดหลั่นไล่ระดับไปตามทางลาดชัน ทำให้ระนาบที่เกิดขั้นมีความต่อเนื่องได้น่าสนใจ หลังจากอิ่มท้องก็มีการแสดงพื้นบ้านให้ชม ซึ่งเหล่านักแสดงก็คือเด็กที่ได้มาเรียนรู้วัฒนธรรมที่นี้ มีการแสดงหลายชุดแต่ที่ข้าพเจ้าประทับใจก็คงจะเป็นการแสดงชุดที่เลียนแบบนกยูง หลังจากชมการแสดงหมดก็ถ่ายรูปรวมและมอบของที่ระลึกก่อนจะออกเดินทางไปยังสถานที่ต่อไป
วัดพระนอนกำแพงเพชร วัดเก่าแก่ที่สร้างด้วยศิลาแลง และมีหลังที่ทำจากไม้ เนื่องจากอายุที่มากทำให้เหลือเพียงแต่ส่วนที่เป็นศิลาแลงที่มีความคงทนมากกว่าเท่านั้น จากสิ่งที่เหลือนี้ทำให้เราเห็นงานภูมิสถาปัตย์ในสมัยก่อนที่มีความงามผ่านกาลเวลา การไล่ระดับของผืนระนาบขนาดใหญ่ ที่มีความคล้ายคลึงกับสวนอังกฤษ ศิลาแลงบางก้อนก็ใหญ่ซะจนไม่สามารถบอกได้ว่ามันขนมาอย่างไร หญ้า และมอสสีเขียวสดที่ข้ามาแทรกตัวอยู่ตามจุดต่างๆ ของโบราณสถานแห่งนี้ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกถึงความกลมกลืนของสถาปัตยกรรมที่อยู่คู่กับธรรมชาติ หลังจากนั้นจึงเดินไปชมพระทั้ง 4 อิริยาบถ คือ ปรางค์สมาธิ ปรางค์นอน ปรางค์ยืน และปรางค์ลีลา ทั้ง 4 ปรางค์นี้ข้าพเจ้าให้ความสนใจกับปรางค์ลีลามากที่สุด เนื่องมาจากเส้นที่อ่อนช้อย และท่วงท่าลีลาการก้าวที่ราวกับมีชีวิต แม้ว่าจะเหลืออยู่เพียงแค่บางส่วนแต่ก็ยังสามารทำให้รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวได้ ก่อนจะมุ่งหน้าสู่ที่พักที่ลำปาง