วัดนี้นั้นมีความน่าสนใจในการหลอกมุมมองในเรื่องของสัดส่วนที่หลอกให้คนที่เข้ามาชม รู้สึกเหมือนวิหารหลังนี้มีความใหญ่โต โดยใช้หลักการในการเปรียบเทียบสัดส่วน เช่น สิงห์คู่ด้านหน้าวัดนั้นมีขนาดเล็กกว่าความเป็นจริง ซุ้มประตูวัดที่มีลวดลายมาก หลังคาวัดที่ใช้กระเบื้องขนาดเล็ก ต้นยางด้านหลังที่มีขนาดพอๆกับวิหาร และรั้วกำแพงที่ไม่สูง ซึ่งพอมารวมกันทุกอย่างแล้วทำให้วิหารดูมีขนาดใหญ่กว่าความเป็นจริง แต่พอเมื่อเดินเข้าไปด้านในแล้ว ก็จะพบว่าจริงแล้วอุโบสถมีขนาดเล็กไม่ใหญ่โตเหมือนที่เห็นในตอนแรก ที่วัดไหล่หินแห่งนี้นอกจะมีการเล่นกับสัดส่วนที่น่าสนใจแล้ว สภาพโดยรอบยังคงดูมีความเป็นของเดิมอยู่ อย่างเช่น ลานทรายรอบๆบริเวณวัดที่มีความแตกต่างจากลานดินของบ้าน ซึ่งลานทรายเหล่านี้เกิดขึ้นจากการออกกุศโลบายของวัดที่ว่าเวลาคนมาทำบุญที่วัดแล้วเดินเหยียบย่ำทรายเหล่านี้ เมื่อกลับไปทรายของวัดที่เป็นของส่วนรวมก็ติดเท้ากลับไปด้วย ดังนั้นเพื่อไม่เป็นการเบียดเบียนส่วนรวมชาวบ้านที่มาทำบุญก็จะมีการนำทรายมาถวายคืนสู่วัดจึงเกิดเป็นลานทรายหน้าวัด ตะไคร้ต่างๆที่เกาะตามกำแพงผนัง คราบน้ำ ความเก่า สิ่งเหล่านี้ทำให้อาคารเก่า ดูขลัง เป็นความงามผ่านกาลเวลา ซึ่งแตกต่างกับอาคารในสมัยใหม่ที่เมื่อเวลาผ่านไป เกิดคราบน้ำฝน เกิดรอยด่างดำขึ้น อาคารเหล่านั้นกลับดูสกปรกทรุดโทรมไม่น่าอยู่เหมือนเมื่อตอนสร้างเสร็จใหม่ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้ออกแบบในปัจจุบันส่วนใหญ่กลับมองข้ามไป อาคารหลังอื่นๆที่อยู่ใน กำแพงวิหารก็มีความเข้ากันทั้งเรื่องสัดส่วน และสีสัน รวมไปถึงวัสดุที่ใช้มีความคล้ายคลึงกัน อาคารเหล่านั้นจึงมีความเป็นหนึ่งเดียวกับวิหาร ด้านในวิหารนั้นเนื่องจากที่พระองค์ใหญ่มาก ขื่อซึ่งปรกติจะวางพาดเสา ก็ถูกยกขึ้นเพื่อไม่ให้บังองค์พระ คนสมันก่อนมีวิธีการแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างได้อย่างน่าสนใจทีเดียว สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจถึงสิ่งที่คิดมาเป็นอย่างดี
วัดพระธาตุลำปางหลวง
วัดแห่งนี้มีขนาดใหญ่มากซึ่งต่างจากวัดไหล่หินโดยสิ้นเชิง ผู้ออกแบบวัดนี้เข้าใจที่ว่างเป็นอย่างดี ทำให้วัดนี้มีลูกเล่นเกี่ยวกับที่ว่างต่างๆเยอะมาก บันไดด้านหน้าที่ทอดยาวลงมายังด้านล่างพยานาค และสิงห์มีความใหญ่โตมาก พอขึ้นบันไดไปจะมองเห็นประตูวิหารอยู่ตรงหน้าให้ความรู้สึกที่ตื่นเต้น และน่าค้นหา พอเดินมาถึงซุ้มประตูพบว่าระยะห่างของซุ้มกับทางเข้าอุโบสถห่างกันเพียงนิดเดียวจนรู้สึกกระชั้นเข้ามาด้านหน้า รู้สึกโดนบีบอัด และก้าวขึ้นไปยังส่วนบนวิหารกลับรู้สึกโปร่งโล่ง เสากลมที่มีขนาดใหญ่วางอย่างเป็นระเบียบนำสายตาเข้าสู่องค์พระ โครงสร้างต่างๆที่มีความเฉพาะตัวของล้านนา อาทิเช่น ม้าต่างไหม แผงคอสอง และอื่นๆ ที่ทำให้สถาปัตยกรรมแบบล้านนามีความพิเศษเฉพาะตัว รอบๆบริเวณแห่งนี้ได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสมัย ลานทรายสมัยก่อเริ่มหายไป มีบางส่วนกลายเป็นกระเบื้องไปบ้างแล้ว วิหารคด และวิหารอื่นๆรอบๆ บางหลังถูกบูรณะใหม่ หอสรงน้ำพระกำลังจะถูกรื้อออกสิ่งเหล่านี้ ทำให้เหล่าครูอาจารย์ ที่เข้าร่วมในการเดินทางครั้งนี้มีการพูดคุยกันถึงในรายละเอียดของเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง ว่าเหตุใดทำไมอาคารที่ถูสร้างใหม่นั้นขาดความเป็นของเก่าไป ดูแล้วไม่ได้รู้สึกถึงความเป็นของเดิม การบูรณะที่เกิดขึ้นนี้ดีจริงหรือ? การที่เห็นซากปรักหักพังแล้วต่อเติมจนเต็มนั้นรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่ใส่เข้าไปนั้นถูกต้อง เอาสิ่งใดมาเป็นหลักฐาน ถ้าไม่มีหลักฐานแล้วใส่เข้าไปทำไม แล้วลายระเอียดบางอย่างอาจเก่าเกินไปเลยต้องบูรณะใหม่ด้วยการลบของเก่าทิ้งนั้น นั่นไม่เท่ากับเป็นการทำลายงานครูหรือ กล่าวคือหากทราบว่าทำแล้วจะไม่เหมือนเดิมแล้วก็ไม่ควรทำ ด้านแนวความคิดอีกด้านก็กลับบอก ว่าหากมีการบูรณะก็สามารถทำได้แต่ต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และยังคงสามารถรักษารายละเอียดคงเดิมไว้ได้ ก็สามารถที่จะบูรณะได้ จากที่กล่าวอาจไม่ชัดเจนว่าแตกต่างกันมากเท่าไหร่แต่หากจะยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้น ก็คือด้านหนึ่งกล่าวว่าถ้าจะอนุรักษ์ก็ทำได้ สามารถปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยได้แต่สิ่งที่เป็นความงามเส้นสาย และสัดส่วนต่างๆ ก็ควรรักษาให้คงเดิมไว้นั่นคือการปล่อยให้โบราณสถานต่างๆเปลี่ยนไปตามยุคสมัยโดยการพยายามรักษาของเดิมไว้ให้ดีที่สุดนั่นเอง ส่วนอีกด้านคือการอนุรักษ์บริสุทธิ์ คือ เปรียบเสมือนการเอากล่องกระจกมาครอบโบราณสถานเหล่านั้นไว้ ไม่ควรไปบูรณะหรือต่อเติมใดๆทั้งสิ้น หากแต่ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติมันจะบุบสลายก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามนั้น ซึ่งหากว่ากันตามจริงแล้วคงไม่มีฝ่ายไหนถูกหรือผิด หากแต่ข้าพเจ้าคิดว่ามันขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในโครงการนั้นๆ เช่น หากต้องการเก็บความเป็นดั้งเดิมเอาไว้ ลูกหลานรุ่นหลังก็อาจจะนึกภาพไม่ออกว่าเป็นแบบใด ดังนั้นต้องดูว่าสิ่งที่ต้องทำคืออะไร หลังจากที่เสร็จจากวัดพระธาตุลำปางหลวง ที่ก่อนหน้าจะขึ้นรถโดนอาจารย์จิ๋วไล่ลงไปถ่ายรูปหอสรงพระอีกรอบก่อนที่เค้าจะทุบทิ้งอย่างน่าเสียดาย
ณ วัดปงยางคก วัดนี้นั้นไม่ได้มีลานทรายเหมือนวัดอื่นๆ แต่เป็นลาดกรวดแทน ซึ่งทำให้ดูแปลกตาออกไปนั้น ที่วิหารพระแม่เจ้าจามเทวีของวัดแห่งวัดนี้เองยังมีร่องลอย การฟันดาบเมื่อปีพ.ศ. 2273 อีกด้วย วิหารของวัดแห่งนี้นั้นเป็นวิหารที่สร้างจากไม้ และมีผนังบางส่วนเป็นก่ออิฐ ซึ่งวิหารหลังนี้นั้นไม่มีฐานวิหาร ทำให้พอมองจากภายนอกวิหารพบว่ารู้สึกเหมือนที่ว่างภายในคับแคบถูกบีบอัด แต่พอเข้าไปด้านในก็รู้อาคารสูงโปร่ง สิ่งเหล่านี้ช่วยเพิ่มความรู้สึกประหลาดใจ ซึ่งความรู้สึกนี้ช่วยเพิ่มความขลังให้กับองค์พระภายในวิหาร คันทวยของวิหารแห่งนี้มีหลายหลายแบบไม่ค่อยซ้ำกันแต่ยังคงมีความคล้ายคลึงกันอยู่ ส่วนวิหารใหม่ด้านข้างมีความแตกอย่างสิ้นเชิงกับวิหารใหม่ที่อยู่ข้างเคียง ที่มีความวิจิตรงดงามสีสันชัดเจน อย่างสิ้นเชิง จากส่วนตัวของข้าพเจ้าแล้ววิหารเก่านั้นยังคงมีความขลังมากกว่าวิหารใหม่ ภายในวิหารพระแม่เจ้าจามเทวีนั้นยังมีสิ่งสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความศรัทธา อีกอย่างคือรูปแจกันที่มีดอกไม้อยู่ซึ่งลายแจกันดอกไม้นี้อยู่บริเวณผนังทั้ง 2 ฝั่งรอบตัวพระ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะบูชาองค์พระทุกๆวัน ดอกไม้ที่ไม่มีทางแห้งเหี่ยว หรือร่วงโรยง่ายๆเหล่านี้ ก็เปรียบเสมือนพลังศรัทธาของศิลปินผู้สร้างนั่นเอง
กลุ่มบ้านไม้ริมทางขากลับเข้าที่พัก เป็นบ้านไม้ที่อยู่กันแบบไทยพื้นถิ่น ตัวบ้านนั่นสร้างด้วยไม้ทั้งหมดแม้กระทั้งเสาฐานรากเองก็ตาม เป็นบ้านที่มีองค์ประกอบง่ายๆ หน้าบ้านขึ้นไปจากบันไดเป็นส่วนรับรอง มีห้องนอน และครัวอยู่บนบ้าน ส่วนห้องน้ำนั้นแยกออกไปด้านข้างตัวเรือน มีการอยู่กันหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นแบบบ้านเดี่ยว หรืออยู่กันเป็นระบบเครือญาติทุกหลังจะมีลานดิน ถ้าเป็นกลุ่มบ้านลานดินจะทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมที่ว่างต่างให้เกิดการเชื่อมต่อกัน มีการจัดสวนที่สำหรับข้าพเจ้าเองเห็นแล้วตกใจว่าขนาดข้าพเจ้าเรือนยังจัดไม่ได้ขนาดนี้เลย เป็นอีกครั้งที่ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจกับประสบการณ์ความงามของชาวบ้าน หลังจากดูกลุ่มบ้านไม้ไป3-4หลังก็กลับเข้าที่พัก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น