วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

วันที่ 4

วันที่ 7 กรกฎาคม 2552
วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม

วัดแห้งนี้มีส่วนที่เป็นทั้งวัดแบบเก่าและใหม่ ส่วนแรกที่พวกเราไปดูนั่นคือวัดเก่า วัดนี้เป็นวัดแรกที่มีองค์ประกอบด้านโครงสร้าง และลวดลายต่างๆอย่างครบถ้วน จากการบรรยายของอาจารย์จิ๋วทำให้ข้าพเจ้าได้ทราบถึงเหตุผลต่างๆ ในการเลือกใช้รูปแบบของการสร้างอาคารไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้เสาสี่เหลี่ยมที่อยู่ด้านหน้าซึ่งดูไม่เข้ากับองค์ประกอบอื่นๆเท่าใดนักแต่เนื่องจากประตูที่มีลักษณะเป็นสี่แหลี่ยมเสาข้างประตูจึงเป็นสี่เหลี่ยมตามไปด้วย ถัดมาเป็นเสาที่ถัดออกไปมีรูปทรงเป็นเสาสอบแปดเหลี่ยม โดยมีเหตุผลในการใช้ว่าม้าต่างไหมด้านหน้าที่วิ่งมาชนเสานั้นจะได้วิ่งเข้ามาชนกับระนาบที่ตั้งฉากเพื่อให้ดูลงตัว และเสาสอบทรงกลมซึ่งอยู่ด้านที่อยู่แนวเดียวกับเสาแปดเหลี่ยมด้านนอกแต่มีลักษณะไม่เหมือนกัน เพื่อให้คนที่เข้าไปใช้รู้สึกว่าที่ว่างไหลลื่นไปทั่ววิหาร แผงคอสองที่ยื่นมาด้านหน้าก็ต้องมีไม้ที่ถูกแกะให้เป็นปากนกแก้วมาเป็นตัวจบ การใช้ปูนปั้นแทน นาคสะดุ้งและเหงา บันไดด้านหน้าก็เป็นบันไดผายออกให้ความรู้สึกดึงดูดเข้าไป สวนหลังถัดมาที่อยู่ด้านนอกรั่ววิหารหลังแรกมีความแตกต่างจากหลังแรกตรงมีชานระเบียงก้านหน้าและที่ประตูมีเทวดาสองตน หลังจากนั้นข้าพเจ้าก็เดินดู และถ่ายรูปลานรอบวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม ทำให้พบว่าที่วัดนี้มีรูปปั้นที่อยู่ตามมุมต่างๆของวัดเยอะกว่าวัดอื่นๆ อีกอย่างที่มีความพิเศษของวัดนี้คือ มณฑปพม่า ที่มีลักษณะแปลกพิเศษ เนื่องจากได้รับวัฒนธรรมตะวันตกมา สิ่งที่ถูกใช้ประดับมณฑปแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยสิ่งแปลก เช่น ฝ้าเพดานคิวปิด หรือตราสัญลักษณ์แบบฝรั่งเศส ที่ทำให้ดูแปลกตาไปอีกแบบ
วัดปงสนุก

วัดแห่งนี้เป็นวัดที่สองที่ได้มาดูในวันนี้ ทางเข้าเป็นบันไดสูง มีความพิเศษที่สังเกตได้จากทางเข้า คือการวางเจดีย์ที่เยื่องกับทางเข้า ซึ่งทำให้เมื่อเดินเข้าไปรู้สึกอยากเดินไปทางขวา เพราะทางขวามีที่ว่างกว่า บนนี้มี เจดีย์ ลานทราย มณฑป และวิหารพระนอน มณฑปของวัดปงสนุกแห่งนี้มีโครงสร้างพิเศษที่มีความสลับซับซ้อนกว่าวัดอื่น ซึ่งมองจากรูปด้านแล้วหลังที่เป็นจั่วยื่นออกมานั้น มีลักษณะลาดลงเข้าหากลางมณฑปทั้งนี้เกิดจากขื่อพิเศษที่ช่วยให้สันหลังคาลาดชันได้ ด้านในของมณฑปนี้นั้นมีพระพุทธรูปที่ตั้งหันหน้าออก ทั้ง 4 ด้านตามทิศ 4 ทั้งทิศ พร้อมด้วยสัตว์ประจำทิศทั้ง 8 ข้าพเจ้าและหมู่คณะพักเพื่อดูโครงสร้างที่พิสดารนี้อยู่พักใหญ่ก่อนจะเดินทางไปยังสถานที่ต่อไป
วัดศรีรองเมือง

วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยพม่า ในสมัยที่อังกฤษได้สัมปทานป่าไม้สักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ไม่สักเหล่านั้นถูกนำมาใช้สร้างวัดแห่งนี้ วัดนี้เดิมชื่อวัดคราวน้อยพม่า สร้างขึ้นในพ.ศ. 2448 โดยใช้เวลาสร้างถึง 7 ปี ความสวยงามของวัดนี้อยู่ที่ความสวยงามวิจิตรการตา หลังคาที่มียอดแหลมถึง 9 ยอด จั่วที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ โดยแต่ละยอดแสดงถึงความศรัทธา ของแต่ละครอบครัวที่มีจิตศรัทธาสร้าง วัดพม่าแห่งนี้แตกต่างกับวัดไทยตรงที่ วิหาร กุฏิ และศาลาการเปรียญ ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ชายคาเดียวกัน ส่วนเชื่อมต่อของหลังถูกคิดมาอย่างดีเพื่อกันไม่ให้น้ำรั้ว แนวความคิดในการออกแบบวัดแห่งนี้ คือ สรวงสวรรค์ทั้ง 7 ชั้น เสากลมทั้งหลายภายในวัดใช้กระจกเป็นสีๆ แผ่นเล็กๆในการตกแต่งอย่างประณีตสิ่งเหล่านี้ทำให้เสาแต่ละต้นมีความวิจิตรงดงาม ว่ากันว่าวัดนี้เป็นวัดพม่าโบราณไม่กี่แห่งที่หลงอยู่ เนื่องจากวัดดั้งเดิมในพม่านั้น ถูกการบูรณะที่ขาดความรู้ และถือคติพังก็ซ่อม ทำให้ของเดิม หายไปตามการซ่อมแซมอย่างรวดเร็ว หลังจากกินข้าว และถ่ายรูปที่วัดแห่งนี้เสร็จแล้ว ก็ออกเดินทางไปเป้าหมายต่อไป
หมู่บ้านยองโบราณ

ที่หมู่บ้านยองนี้ มีบ้านที่ถูกสร้างขึ้นโดยช่างไม้โบราณอยู่หลายหลัง แต่เนื่องจากเวลานี้ใกล้จะมืดแล้วในครั้งนี้บ้านที่พวกเราได้ดูมีจึงมีเพียง 3 หลังด้วยกัน ซึ่งทั้ง 3 หลังนี้เป็นบ้านไม้ที่งานประณีตและเรียบร้อยมาก หลังแรกที่ไปดูนั้น ถูกสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2482 มีขนาดปานกลางไม่เล็กไม่ใหญ่ เป็นบ้านยกใต้ถุนสูง ด้านล่างมีระแนงไม้ที่ใช้ล้อมพื้นที่ด้านล่างในการเลี้ยงสัตว์อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อนเจ้าของบ้านได้ชักชวนให้ไปดูข้างบน จึงทำให้ข้าพเจ้าได้เห็น ที่ว่างกลางบ้านที่เป็นสวนเชื่อมต่อกันขององค์ประกอบต่างๆ ที่ลงตัวมาก ด้านหลังเป็นครัวและที่เก็บของที่เปิดโล่ง ส่วนหลังที่สองนั้นไม่มีคนอยู่จึงไม่ได้ขึ้นไปดูแต่หลังที่สองนั้นมีช่องลอดระหว่างเรือนที่น่าสนใจ และสวนหน้าบ้านที่มีการจัดตกแต่งโดยการเน้นระนาบในแนวตั้ง และหลังสุดท้ายเป็นบ้านของคุณยายใจดีท่านหนึ่ง ที่หลังสุดท้ายนี้นั้นข้าพเจ้ารู้สึกว่าสวนสวยที่สุดในบรรดา 3 หลัง และพอเมื่อเดินขึ้นบ้านไป แล้วพบว่ามีการแจกเป็น 2 ทาง คือ ทางซ้ายไปยังส่วนที่เป็นโถง ซึ่งจะสามารถแจกไปยัง ห้องนอน 2 ห้อง ที่นั่งเล่น 2 ที่ ส่วนทางขวานั้นจะเป็นห้องครัว ห้องเก็บของ และเมื่อเดินทะลุส่วนแจกนี้ไปจะพบกับระเบียงกลังบ้านและห้องน้ำอยู่บนระเบียงนี้ วิวที่สามารถมองได้จากระเบียงนี้ก็คือทิวทัศน์ของวัด ที่อยู่ใกล้ๆ หลังจากเดินถ่ายรูป และคุยกับคุณยายจนมืดค่ำข้าพเจ้าและหมู่คณะก็เดินทางกลับไปยังที่พักแห่งใหม่ที่สนามกีฬา 700 ปีเชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น