วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ประวัติ รองศาสตราจารย์ วิวัฒน์ เตมียพันธ์ (อาจารย์ จิ๋ว)


อาจารย์จิ๋ว(รศ. วิวัฒน์ เตมียพันธ์)
ผู้ชายผมสีดอกเลา เสียงดังโหวกเหวก สะพายย่ามติดตัวตลอดเวลาใส่รองเท้าคีบ เสื้อเชิ้ตขาวอมเทา เป็นความทรงจำที่ฝังแน่น เสียงตะโกนให้นักเรียนหลบไป เพราะจารย์จิ๋วจะถ่ายรูป ภาพนักเรียนกระเด็นกันไปคนละทิศ ยังคงตรึงในความทรงจำของเด็กถาปัด อาจารย์ทั้งสองคนไม่เคยโปรโมทตัวเอง ไม่รับงานนอก ไม่มีบริษัท อาจารย์ทำงานหนัก สอนเยอะชั่วโมงกว่าอาจารย์คนอื่น พานักเรียนไปต่างจังหวัด ข้าพเจ้าไม่รู้ว่า ท่านทุ่มเทขนาดนั้นได้อย่างไร ในขณะที่ อาจารย์คนอื่น ต้องรับงานนอก หรือทำธุรกิจอื่นไปด้วย อาจเพราะเงินเดือนของข้าราชการที่ไม่ค่อยจะพอเพียง ข้าพเจ้ารู้แต่ว่า อาจารย์เป็นคนที่เราเรียกได้เต็มปากว่า"ครู"
หากแต่ถามถึงประวัติของท่านแล้ว ก็จะมีคนไม่มากนักที่รู้ถึงประวัติของท่าน ซึ่งความรู้สึกของข้าพเจ้ามันช่างเป็นเรื่องน่าเสียใจยิ่งนัก วันนี้ข้าพเจ้าจึงมีโอกาสได้ นำเสนอชีวประวัติของอาจารย์จิ๋ว ซึ่งข้าพเจ้ารู้สึกภูมิใจจริงๆ ที่ได้เรียนวิชา ทุกวิชาที่เรียนท่าน

ชีวประวัติ ของ รองศาสตราจารย์ วิวัฒน์ เตมียพันธ์

เกิดเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔
วุฒิการศึกษา
สำเร็จการศึกษา สถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต (สถาปัตยกรรม) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประวัติการรับราชการ
- เริ่มเข้ารับราชการ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๗ ในตำแหน่ง อาจารย์ ที่วิทยาลัยวิชาการก่อสร้าง ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ สังกัดภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- และเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ ขึ้นดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ระดับ ๙ สังกัดภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง


เกียรติประวัติและรางวัลระดับชาติที่ได้รับ
1.ได้รับรางวัลเกียรติยศระดับชาติ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เข้ารับพระราชทานรางวัล “ผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่นประเภทบุคคลประจำปี ๒๕๔๐” โดยการคัดเลือกของกรมศิลปากร
2.ได้รับการคัดเลือกเป็นสถาปนิกดีเด่นในด้าน “สถาปนิกดีเด่นด้านวิชาการ” ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยการคัดเลือกของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (ในโอกาสที่สมาคมได้ก่อตั้งมาครบ ๗๐ ปี)

3.ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (ตามลำดับ) ดังนี้
- จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย
- ตริตราภรณ์มงกุฎไทย
- ตริตราภรณ์ช้างเผือก
- ทวิติยาภรณ์มงกุฎไทย
- ทวิติยาภรณ์ช้างเผือก
- ปถมาภรณ์มงกุฎไทย (สายสะพาย)
- ปถมาภรณ์ช้างเผือก (สายสะพาย)
และได้รับเหรียญจักรพรรดิมาลา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒

รองศาสตราจารย์วิวัฒน์ เตมียพันธ์ เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านสถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่น และองค์ความรู้ทางด้านการออกแบบนานาสาขา อาทิ ผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นของชาวบ้านในแต่ละภูมิภาค เป็นผู้บุกเบิกการศึกษาค้นคว้าทางด้านสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่น, การ ศึกษาทางด้านนิเวศน์วิทยาวัฒนธรรม, และทางด้านภูมิทัศน์วัฒนธรรม อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ท่านเป็นผู้จุดประกายความคิดแก่วงการการศึกษาสถาปัตยกรรมในประเทศไทย ให้หวนกลับมามองถึงคุณค่าของรากเหง้าวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ ท่ามกลางกระแสการศึกษาสมัยใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์ ที่นับวัน สังคมกำลังจะมองข้ามความสำคัญของภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยไป ทั้งยังได้ชี้แนะให้ติดตามศึกษาองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมจากตะวันตก ควบคู่กับองค์ความรู้ภูมิปัญญาตะวันออก ก่อให้เกิดการรู้เท่าทัน เห็นคุณค่า เกิดการหวงแหน สืบสานการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย ให้อยู่คู่กับสังคมไทยอย่างยั่งยืน
ท่านเป็นผู้ชี้ให้เห็นแนวทางการสืบต่อความเข้าใจและวิธีคิด ในด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของไทย โดยมุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง ด้วยภูมิปัญญาระดับท้องถิ่นที่สืบสานผสมผสานกับการประยุกต์ใช้งาน ไม่พึ่งพาเทคโนโลยีชั้นสูงโดยไม่จำเป็น โดยเน้นให้ศึกษาถึงวิธีการแก้ปัญหาของชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งมีการสั่งสมภูมิปัญญามาจากบรรพบุรุษ จนได้วิธีการแก้ปัญหานั้นๆ เกิดการประสาน ปรับตัวอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในที่สุด เป็นการชี้ให้เห็นคุณค่าของความผูกพันระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ที่ต้องอาศัยพึ่งพิงกัน ในลักษณะเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ในระบบนิเวศวิทยา
ท่านเป็นผู้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการวางรากฐานของมรดกทางวัฒนธรรมไทย ทั้งยังเป็นผู้วางรากฐานทางการศึกษาสถาปัตยกรรมไทย ตลอดจนเป็นผู้ริเริ่มวางหลักสูตรของภาควิชาสถาปัตยกรรม ภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้เป็นหลักสูตรที่เติมเต็มเนื้อหาวิชาการจากศาสตร์หรือสาขาวิชาแขนงอื่นที่เกี่ยวข้องเข้ากับหลักสูตรวิชาเฉพาะในด้านสถาปัตยกรรม ให้มีลักษณะผสมผสานองค์ความรู้แบบองค์รวม ตัวอย่างวิชาดังกล่าว ได้แก่ วิชาออกแบบทัศนศิลป์ (Visual Design), การวิเคราะห์การออกแบบ (Design Analysis), ออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน (Interior Architecture), ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม (Landscape Architecture) วัฒนธรรมไทย (Thai Culture), ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม (History of Architecture), จริยศาสตร์และสุนทรียศาสตร์ (Ethics and Aesthetics) ในส่วนของวิชาเลือกคือดนตรีวิจักขณ์ (Music Appreciation), ศิลปะไทย (Thai Arts), ดนตรีไทย (Thai Music), สถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่น (Thai Vernacular Architecture) เป็นต้น

จากการปรับเปลี่ยนหลักสูตรของภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. ดังกล่าว นับได้ว่าเกิดประโยชน์แก่วงการการศึกษาในสาขาสถาปัตยกรรมเป็นอันมากนอกเหนือจากเป็นการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพและคุณธรรม ได้เรียนรู้และเข้าใจในวัฒนธรรมไทยอันดีแล้ว ยังเป็นการสร้างคุณลักษณะพิเศษและสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตน บัณฑิต(ส่วนใหญ่)ที่สำเร็จการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. จึงเป็นผู้มีสำนึกและเข้าใจในเรื่องรากเหง้าวัฒนธรรม เข้าใจความสำคัญของสภาพแวดล้อมพื้นถิ่น พร้อมทั้งสามารถนำความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอด ปลูกฝัง นำไปประยุกต์ รับใช้สังคมและประเทศชาติได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้บุกเบิกและชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญของกระบวนการการเรียนรู้ด้วยวิธีการออกสำรวจเก็บข้อมูล ในสถานที่จริง ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการในเชิงมนุษยศาสตร์ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้และประจักษ์แจ้งถึงข้อเท็จจริง เป็นการวางรากฐานและเป็นแบบอย่างที่ดี ในการศึกษาและเก็บข้อมูลด้านสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นของมหาวิทยาลัยในระดับอุดมศึกษาของชาติหลายแห่งในเวลาต่อมา
นับว่าเป็นการสร้างรูปแบบและวิธีการเรียนรู้ในด้านสถาปัตยกรรม ที่มีกระบวนการการเรียนรู้จากประสบการณ์การเรียนรู้ส่วนตนของผู้เรียนให้เกิดขึ้นในประเทศ ถือเป็นเอกลักษณ์และเป็นจุดเด่นที่สำคัญกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเป็นอย่างยิ่ง โดยที่ผู้เรียนแต่ละคนย่อมสามารถนำข้อมูลที่เก็บรวบรวม มาสังเคราะห์และวิเคราะห์ ประจักษ์เป็นองค์ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ส่วนตน ไปประยุกต์ใช้งานได้จริง ทั้งความเข้าใจในด้านเทคนิควิธี ทฤษฎีด้านพฤติกรรมศาสตร์และด้านการออกแบบวิชาชีพตามความเหมาะสมในภายภาคหน้า
นอกเหนือจากความรู้ในเนื้อหาวิชาการที่นักศึกษาได้เรียนรู้ผ่านการสอนจากรองศาสตราจารย์วิวัฒน์ เตมียพันธ์แล้ว ท่านยังอบรมสั่งสอนคุณลักษณะพิเศษด้านอื่นๆที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตภายใต้แนวคิดแบบพึ่งพาตนเองและอยู่อย่างพอเพียงแก่ศิษย์อีกด้วย ได้แก่ สอนให้รู้จักคุณค่าของทรัพยากร, สอนให้รู้จักใช้ประโยชน์จากวัสดุให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าที่สุด, สอนให้เห็นคุณค่าของการศึกษา ให้มีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา ให้ความสำคัญกับทุกแขนงรายวิชา เป็นต้น
ตลอดระยะเวลาการรับราชการ รองศาสตราจารย์วิวัฒน์ เตมียพันธ์ เป็น “ครู” ผู้อุทิศตน ทุ่มเทให้กับงานสอน เป็น “ครู”ผู้มีคุณูปการมุ่งมั่นสั่งสอนปลูกฝังให้ศิษย์ในภาควิชาต่างๆ เป็นบัณฑิตผู้มีความรู้ทางด้านเอกลักษณ์ไทยที่ก้าวไปพร้อมกับโลกยุคใหม่อย่างมีคุณธรรม
ปัจจุบันรองศาสตราจารย์วิวัฒน์ เตมียพันธ์ เกษียณอายุราชการและเป็นข้าราชการบำนาญ แต่ด้วยวิญญาณของ “ครู“ ท่านคงรับภาระงานสอนให้แก่นักศึกษาในระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโท ของภาควิชาสถาปัตยกรรม ภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน และภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. นอกจากนี้ท่านยังได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษหรือเป็นกรรมการวิทยานิพนธ์ ให้แก่ สถาบันการศึกษาที่สอนสาขาวิชาสถาปัตยกรรม ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ที่ได้รับเชิญเป็นประจำ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันอื่นตามแต่โอกาส เช่นที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย ซึ่งท่านเคยรับไปบรรยายพิเศษเป็นระยะเวลาต่อเนื่องนานกว่า ๑๐ ปี

ผลงานทางวิชาการ
1.บทความทางวิชาการ เรื่อง “สาระของชนบทในบางมิติ ที่ต้องอาศัยการรู้แจ้งจากประสบการณ์ภาคสนาม” ในหนังสือ “มรดกความงามของสภาพแวดล้อมท้องถิ่นไทย” จัดพิมพ์โดย ภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ. ๒๕๔๗
2.บทความทางวิชาการเรื่อง “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไทย ฐานะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมกับการออกแบบปัจจุบันและความหมายของที่อยู่อาศัยตามโลกทัศน์ล้านนาโบราณ” เอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการ “ความหลากหลายของเรือนพื้นถิ่นไทย” จัดโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๓
3.บทความทางวิชาการ เรื่อง “เรือนพักอาศัย รูปแบบสำคัญของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” ตีพิมพ์ในวารสาร อาษา เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑
4.ค้นคว้าเรื่อง “สถาปัตยกรรมล้านนา” และได้รวบรวมโดยเขียนหนังสือ “สถาปัตยกรรมล้านนา” เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ มีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕
5.การศึกษาการใช้พื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวเกาะสีชัง อ.ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔
6.การศึกษาเพื่อจัดทำหุ่นจำลองสภาพการใช้พื้นที่ประวัติศาสตร์ป้อมเพชร ศูนย์ประวัติศาสตร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓
7.โครงการวิจัย “รูปแบบเรือนพักอาศัยพื้นถิ่นของชุมชนไทยเชื้อสายมอญ ย่านคลองมอญ หัวตะเข้ เขตลาดกระบัง” เป็นการออกสำรวจและเก็บข้อมูลภาคสนาม ด้วยการออกไปสัมผัสยังสถานที่สำรวจ รวมไปถึงการสัมภาษณ์ และจดบันทึกข้อมูลด้วยภาพวาดลายเส้นทางสถาปัตยกรรม ของชาวมอญที่ตั้งบ้านเรือนบริเวณคลองมอญ คลองประเวศน์บุรีรมย์ตลอดไปจนถึงคลองลำปลาทิว ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒
8.เอกสารทางวิชาการ เรื่อง “สังเขปความ การตั้งถิ่นฐานมนุษย์ในภาคอีสาน (และบางส่วนของลาว) ในเชิงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ทางเอกสารและหลักฐาน ถึงรัชสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)” ใช้ประกอบในการสัมมนาเรื่อง “เอกลักษณ์สถาปัตยกรรมอีสาน” จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๐
9.บทความทางวิชาการ เรื่อง “แนวทางการศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” เผยแพร่ในการอบรม “แนวทางการศึกษาและวิจัยทางศิลปกรรมไทย” ของคณะมัณฑนศิลป์ร่วมกับคณะอนุกรรมการการวิชาการโครงการจัดตั้งหอศิลป ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๙
10.หนังสือ “สถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่น” จัดพิมพ์โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ. ๒๕๒๕
11.งานวิจัยเรื่อง “เรือนเครื่องผูกชาวนา (โรงนา) ที่หมู่ ๑ ตำบลคอกกระบือ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร” โดยงานวิจัยได้รับทุนอุดหนุนด้วยเงินงบประมาณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ปี พ.ศ. ๒๕๒๔
12.สำรวจค้นคว้าเรื่อง “รูปแบบอาคารที่พักอาศัยพื้นบ้านในชนบทของไทยทุกภาค” พร้อมกับศึกษาสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น เพื่อนำมาเป็นข้อมูลการเรียนการสอนให้อนุชนรุ่นหลังมีความตะหนักถึงมรดกทางวัฒนธรรมไทย อันมีคุณค่าที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ไว้
13.เอกสารคำสอนวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ๑ เรื่อง “อียิปต์ เมโสโปเตเมีย กรีก โรมัน คริสเตียนยุคแรก” ภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์วิวัฒน์ เตมียพันธ์ ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ รอบรู้ในศาสตร์แขนงอื่นอีกด้วย ที่พอกล่าวได้มีดังนี้ เช่น ในด้านศิลปะไทย, วัฒนธรรมประเพณีล้านนา, ประวัติศาสตร์, ชาติพันธุ์วิทยา, คติพื้นบ้าน, ตลอดจนในด้านดนตรีไทย เป็นนักดนตรีไทย (เป่าขลุ่ย) ท่านจึงได้รับเชิญเข้าร่วมสัมมนาหรือเป็นองค์ปาฐกในงานวิชาการระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ
1.เป็นวิทยากรบรรยายในงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ ในงานสถาปนิก ๕๐ “International Seminar Architect’ 07: Leap to the Future” หัวข้อบรรยาย “วิถีไทยการดำรงอยู่บางประการผ่านวรรณศิลป์และดุริยางคศิลป์” จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ ศูนย์กลางการประชุมเมืองทองธานี เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
2.เป็นองค์ปาฐกในการสัมมนาทางวิชาการและการจัดแสดงผลงานภาพถ่าย ในหัวข้อโครงการ “มรดกความงามของสภาพแวดล้อมท้องถิ่นไทย” ที่ภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. จัดขึ้น เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗
3.เป็นองค์ปาฐกในงานสัมมนาวิชาการ “สัปดาห์วิชาการครั้งที่ ๑” จัดโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๖
4.ร่วมสัมมนาวิชาการ ในงาน สถาปนิก๔๖ เรื่อง “สุนทรียศาสตร์ทางด้านดนตรี” จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ ศูนย์กลางการประชุมเมืองทองธานี ปี พ.ศ. ๒๕๔๖
5.เข้าร่วมประชุมทางวิชาการ เรื่อง “ความหลากหลายของเรือนพื้นถิ่นไทย” จัดโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปี พ.ศ. ๒๕๔๓
6.เป็นองค์ปาฐกในงานสัมมนาวิชาการ “สาระศาสตร์” จัดโดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒

ผลงานด้านการออกแบบ
1.ออกแบบอาคารทรงไทย และกลุ่มอาคารเรียนสองชั้น ภายในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ปี พ.ศ. ๒๕๑๔-๒๕๑๕
2.ออกแบบกู่ เพื่อเป็นอนุสาวรีย์ของพระราชอินทวิชยานนท์ บนยอดดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่




















เรื่องราวของแม่

เรียงความเรื่องแม่
แม่ คำสั้นๆที่มีความลึกซึ้งจนทำให้คนบางคนต้องหลั่งน้ำตาเมื่อได้ยินคำๆนี้ แม่คำที่คนบางคนไม่เคยเห็นว่ามันสำคัญ คำว่า “แม่” ตามพจนานุกรมนั้นมีความหมายว่า “หญิงผู้ให้กําเนิดหรือเลี้ยงดูลูก” เป็นความหมายที่มีความยาวเพียงประโยคเดียวในพจนานุกรม แต่เมื่อถามถึงความหมายกับบุคคลผู้เป็นลูกแล้วนั้น คำว่าแม่อาจบรรยายได้หลายหน้ากระดาษ แม่บุคคลผู้ให้ชีวิตที่ประเสริฐสุดแกลูกทุกๆคน แม่คนที่ไม่เคยเหนื่อยท้อต่อการทำงานหนักหากการทำงานหนักนั้นจะได้มาซึ่งสิ่งที่ช่วยเลี้ยงดูให้ลูกของตนเติบใหญ่โดยไม่เกี่ยงว่างานนั้นจะเป็นสิ่งใดก็ตาม เพียงแค่ตอนตั้งท้องแม่ก็เหนื่อย และลำบากกว่าคนปรกติตั้งไม่รู้กี่เท่า ขณะตั้งท้องที่ลูกทำให้แม่ต้องอาจารย์และเวียนหัว ต้องหาอาหารดีๆ มีคุณค่าทายเพียงต้องการให้ลูกของตนที่เกิดมานั้นสมบูรณ์ ไม่ว่าแม่จะต้องทรมานสักเท่าไหร่ที่จะต้องอาเจียนออกมาจนไม่อยากที่จะทานอะไรอีกเลย แต่เมื่ออาเจียนแล้วแม่ก็จำเป็นที่จะต้องทานเข้าไป ฝืนกลืนเข้าไปเพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน แม่ต้องทำสิ่งเหล่านี้เป็นเวลานานหลายเดือน ต้องยอมไม่ได้ใส่เสื้อผ้าสวยๆแบบที่ตนอยากใส่ เพราะท้องที่มีลูกอยู่ เพราะท้องที่โตขึ้นทุกๆวัน จนในที่สุดก็ครบกำหนดคลอด หลายคนคงเคยได้ยินได้ฟังประโยคๆหนึ่งผ่านหู ประโยคที่ว่า “วันเกิดของลูกคล้ายวันตายของแม่” ใครจะรู้ว่าวันนั้นจะเป็นวันที่แม่ดีใจที่สุด แม้ว่าจะเป็นวันที่ผู้หญิงคนหนึ่งเจ็บจนแทบจะขาดใจ แม่หลายคนที่สิ้นใจตายไปเพียงเพื่อให้ลูกที่ตนเฝ้าทนอมมา 9 เดือน ได้เกิดมามีชีวิต เพียงแค่นี้ก็เห็นชัดเจนแล้วถึงความรักของแม่ที่ต่อลูกของตน
แม่ของข้าพเจ้านั้น ชื่อ นุภา ที่มีความหมายถึง ท้องฟ้าที่กว้างใหญ่ สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ชื่อๆนี้ของแม่ข้าพเจ้าช่างเหมาะสมกับท่านเหลือเกิน ข้าพเจ้ามีน้องหนึ่งคนตั้งแต่ข้าพเจ้าจำความได้ในสมัยเด็ก ข้าพเจ้าไม่เคยมีวันไหนเลยที่ไม่ทะเลาะ และเตะต่อยกับน้องของข้าพเจ้า อาจเป็นเพราะน้องของข้าพเจ้าเป็นผู้ชายที่มีวัยไร่เรี่ยกับข้าพเจ้า และทุกๆครั้งที่ทะเลาะกัน ข้าพเจ้าจะมักเป็นฝ่ายผิดอยู่เสมอๆ และแม่ของข้าพเจ้าก็มักจะบอกกับข้าพเจ้า อย่างเดียวกันทุกๆครั้งว่า ลูกเป็นพี่นะ ลูกต้องยอมน้องเพราะน้องยังเด็ก ซึ่งตัวข้าพเจ้าไม่เคยรู้สึกเลยซักครั้งว่าทำไมข้าพเจ้าถึงต้องยอม จนบ่ายวันหนึ่งข้าพเจ้าทะเลาะกับน้องแรงมาก ถึงขนาดชกต่อยกันอย่างรุนแรง ทั้งพ่อ และแม่ของข้าพเจ้า เข้ามาปกป้องน้อง ข้าพเจ้าในตอนนั้นรู้สึกน้อยใจมากที่มันเป็นอย่างนั้น ข้าพเจ้าจึงเดินหนีออกไปและกลับมาอีกที่ในตอนเย็นวันเดียวกัน ข้าพเจ้าเดินกลับขึ้นไปบนห้องนอน โดยหวังว่าจะไม่เจอหน้าใครทั้งนั้น แต่ในระหว่างที่ข้าพเจ้าเดินผ่านชั้นสอง ก่อนที่จะขึ้นไปยังชั้นสามซึ่งเป็นส่วนห้องนอนของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้ยินเสียงผู้หญิงคนหนึ่งร้องไห้ ในใจของข้าพเจ้าตอนนั้นไม่สามารถที่จะทนเดินผ่านขึ้นไปโดยไม่สนใจได้ ข้าพเจ้าจึงเปิดประตูห้องเข้าไป ข้าพเจ้าได้เห็นสิ่งที่ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่สะเทือนใจที่สุดในชีวิตของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเห็นผู้หญิงคนหนึ่งนั่งร้องไห้น้ำตาไหลออกมาจนเหมือนจะไม่มีวันหยุด และผู้หญิงคนนั้นคือแม่ของข้าพเจ้า พอข้าพเจ้าเห็นภาพที่เกิดขึ้นตรงหน้าข้าพเจ้าอดกลั้นน้ำตาของข้าพเจ้าต่อไปไม่ไหวอีกแล้ว ข้าพเจ้าเดินเข้าไปหาแม่ของข้าพเจ้า และนั่งลงข้างๆท่าน ข้าพเจ้าถามแม่ของข้าพเจ้าว่า “แม่ครับแม่เป็นอะไรไป ทำไมแม่ถึงมานั่งร้องไห้อยู่แบบนี้” แม่ของข้าพเจ้ายังคงสะอึกสะอื้นไม่พูดสิ่งใด ข้าพเจ้าจึงพูดต่อไปว่า “แม่ครับแม่บอกผมเถอะ อย่านั่งร้องไห้อยู่แบบนี้เลย ผมเป็นห่วงแม่นะครับ” หลังจากนั้นแม่ก็ยังคงเงียบอยู่ ก่อนที่ท่านจะพูดออกมา ว่า “แม่เสียใจลูกกับเรื่องที่เกิดขึ้นวันนี้ ไม่มีลูกแค่สองคน และแม่ก็รักลูกทั้งสองคนมาก แม่ไม่เข้าใจว่าทำไม่ลูกที่แม่รักทั้งสองคนถึงต้องทะเลาะกันอย่างเอาเป็นเอาตายขนาดนั้น แม่รักลูกมากนะ” หลังจากที่ข้าพเจ้าได้ยินสิ่งที่แม่ข้าพเจ้าพูดออกมานั้น ภาพต่างๆก็เริ่มวิ่งอยู่ในหัวของข้าพเจ้าภาพที่ ข้าพเจ้าอาเจียนเมื่อตอนยังเด็ก แล้วแม่ของข้าพเจ้าเอามือมารับอาเจียนของข้าพเจ้า ภาพที่แม่ของข้าพเจ้าวิ่งมากอดข้าพเจ้าหลังจากที่ข้าพเจ้าลื่นตกบันได ภาพที่แม่ของข้าพเจ้านอนกอดข้าพเจ้าเวลาข้าพเจ้าฝันร้าย และอีกเยอะแยะมากมาย ซึ่งทุกภาพเป็นภาพที่แม่ของข้าพเจ้าคอยดูแลข้าพเจ้าด้วยความรักตลอดมา มันทำให้ในจิตใจของข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนถูกบีบอัด ว่าสิ่งที่ข้าพเจ้าทำลงไปวันนี้มันทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งที่รักและเอ็นดูเราอย่างไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทน กำลังเสียใจกับการกระทำที่โง่เขลาของเรา ข้าพเจ้าจึงค่อยๆก้มลงกราบแม่ของข้าพเจ้าที่ก่อนที่จะบอกท่านว่า “แม่ครับผมขอโทษ ผมรักแม่ครับ” หลังจากวันนั้นมาข้าพเจ้าก็ยังคงทะเลาะกับน้องอยู่เสมอๆ แต่ทุกครั้งข้าพเจ้ายอมเป็นฝ่ายถอยแม้ข้าพเจ้าจะเป็นพี่ชายก็ตาม เพราะข้าพเจ้าไม่ต้องการให้แม่ของข้าพเจ้า ต้องเสียใจอีกแล้ว ทุกวันนี้แม่ของข้าพเจ้ามีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสะโพก มันทำให้ท่านไปไหนได้ค่อนข้างลำบาก แต่ท่านก็ยังคงต้องขับรถและทำงาน เพื่อหาเงินมาให้ข้าพเจ้าได้ร่ำเรียน ซึ่งทุกครั้งเมื่อข้าพเจ้ากลับบ้านไปข้าพเจ้าก็จะช่วยแม่ของข้าพเจ้าขับรถ หาเวลาพาท่านออกไปไหนมาไหนตามประสาวันหยุด ข้าพเจ้าให้แม่ของข้าพเจ้าเกาะแขนข้าพเจ้าเดินกันไปเหมือนวัยรุ่นคู่หนึ่ง แม่ของข้าพเจ้าดูมีความสุขมากซึ่งมันแสดงผ่านออกจากท่าทางของท่านอย่างชัดเจน และข้าพเจ้าเองก็มีความสุขมากด้วยเหมือนกันที่ข้าพเจ้าเห็นแม่ของข้าพเจ้าเป็นเช่นนั้น
ข้าพเจ้าตั้งใจว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในภายหน้าข้าพเจ้าจะไม่มีวันปล่อยให้แม่ของข้าพเจ้าลำบาก เหมือนที่แม่ของข้าพเจ้าไม่เคยปล่อยให้ข้าพเจ้าลำบากเช่นกัน ข้าพเจ้าอยากให้ทุกๆคนเห็นความสำคัญของผู้หญิงคนที่รักเราอย่าไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทน และท่านจะรักเราตราบจนท่านสิ้นใจ ทุกวันนี้หากใครยังมีโอกาสที่จะได้ทดแทนดูแลท่าน ข้าพเจ้าอยากให้ไขว่ว้าโอกาสนี้อย่าได้เสียดายเวลาที่จะอยู่กับท่านเลย เพราะบุญคุณของท่านนั้นมันมากมายเสียใจไม่อาจชดใช้ได้หมดเพียงชาติเดียว และความรักที่มีต่อคุณนั้นไม่มีใครที่จะให้ได้แบบนี้อีกแล้ว เพราะฉะนั้นขอให้ทุกๆคนรักแม่ให้มากๆนะครับ วันแม่เป็นวันเกิดของราชินี แต่ไม่ได้เป็นวันเดียวที่คุณจะรักแม่ได้ครับ

วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทัศนคติต่อการเป็นสถาปนิก

เมื่อสมัยที่ข้าพเจ้ายังไม่ได้เลือกที่จะเข้ามาเรียนสายอาชีพสถาปนิกนั้น ในตอนที่ข้าพเจ้ายังอยู่มัธยมปลาย ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียงปีสองปี ก็จำเป็นต้องเข้ามหาวิทยาลัย และเลือกว่าตนจะเรียนไปทางด้านไหน พ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ ก็เฝ้าถามข้าพเจ้าด้วยความเป็นห่วงอยู่ทุกวัน ในตอนนั้นข้าพเจ้าจึงคิดว่าคงได้เวาเลือกสาขาวิชาที่สนใจเสียที ข้าพเจ้าเริ่มคิดไปต่างๆนานา วิชาไหนที่เราชอบหรือไม่ชอบนะ เราอยากเรียนอะไร พอคิดไปคิดมาจึงทราบว่าตัวข้าพเจาองนั้น ชอบที่จะวาดรูป และไม่ชอบเรียนเคมี ส่วนวิชาอื่นๆในสายตายข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารู้สึกเฉยๆ ข้าพเจ้าจึงเริ่มมองหาสายวิชาที่ไม่ต้องเรียนเคมี และได้วาดรูป ซึ่งนี่แหล่ะคือทัศนคติที่มีต่ออาชีพสถาปนิกในตอนนั้น

ข้าพเจ้าคิดสวยหรูว่า คงจะได้เข้ามาวาดรูป ได้ออกแบบสิ่งต่างๆ ได้ทำอะไรที่สายวิทย์ไม่ค่อยได้ทำ และที่สำคัญคือไม่ต้องเรียนเคมี ข้าพเจ้าจึงเริ่มต้นหาที่กวดวิชาที่จำเป็นต้องใช่ในการเข้าสอบ ไม่ว่าจะเป็น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ และที่สำคัญคือ ความถนัดทางสถาปัตยกรรม ในตอนที่ข้าพเจ้าเรียนนั้น พี่ติวสอนให้ข้าพเจ้าวาดรูปเพื่อใช้ประโยชน์ในแบบต่างๆ เช่น วาดภาพทิวทัศน์ ทำโจทย์สเก็ตดีไซน์ ออกแบบโปสเตอร์ ออกแบบสัญลักษณ์ ฯลฯ พอช่วงใกล้สอบก็เริ่มเรียนรู้ภาคทฤษฎี เกี่ยวกับต้นไม้ สี รูปทรงทางเลขาคณิต ข้าพเจ้ารู้สึกว่าสนุกและชอบที่จะได้ทำอะไรแบบนี้มาก ซึ่งข้าพเจ้าไม่ได้ทราบความจริงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้เลย จนวันประกาศผลสอบข้าพเจ้าตื่นเต้นมาก และข้าพเจ้าทราบผลการสอบ ข้าพเจ้ายิ่งดีใจขึ้นไปอีกเป็นเท่าตัว เหตุผลนั้นเพราะข้าพเจ้าสอบติดสิ่งที่ข้าพเจ้าเขียนเอาไว้เป็นอันดับหนึ่ง นั่นคือ ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในตอนนี้นั่นเอง

เมื่อข้าพเจ้าได้เข้าศึกษายังสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังแล้ว ในตอนแรกนั้นข้าพเจ้ารู้สึกภูมิใจมากที่ได้เข้ามาอยู่ที่นี่ ในปีแรกนั้น วิชาที่เรียนมีความน่าสนใจแล้วสนุกมากไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ วิชชวล ดีไลน์ ดรอวอิ้ง โครงสร้าง ต่างๆที่ทำให้ข้าพเจ้าได้รู้เรื่องราวต่างๆมากขึ้น แต่มันก็น่าแปลกใจว่ามันไม่เหมือนกับที่ข้าพเจ้าคิดไว้ตอนแรกเลย วิชาต่างๆที่เคยติวแทบจะไม่ได้ใช้ ทุกคนที่เข้ามาที่นี่ได้เหมือนเริ่มต้นใหม่กันหมด ที่เคยคิดว่าตัวเองว่ารูปดี พอเข้ามาก้อกลายเป็นธรรมดามันไม่ได้ใช้อย่างที่เคยคิด พอมาเริ่มปี1เทอม2 ก็เริ่มได้ทำโปรเจ็คแรกของการเรียน นั่นก็คือบ้านเดียวริมคลอง เริ่มรู้และเข้าใจวิชาสถาปนิกมากขึ้นในตอนนั้นข้าพเจ้าเริ่มตระหนักได้ว่า สำหรับวิชาชีพสถาปนิกแล้วสิ่งที่สำคัญคือความรู้สึกของคนที่จะได้เข้าไปสัมผัสกับอาคารของเรา ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างที่รับรู้ทางสายตาได้จากภายนอก หรือความรู้สึกที่ได้รับเมื่อเข้ามาภายใน อีกทั้งยังวิชาโครงสร้างที่ต้องเรียนรู้ไปควบคู่กันเพื่อให้อาคารที่เราออกแบบนั่นเกิดขึ้นจริงได้ วิชา Site planning ที่ทำให้เราเข้าใจถึงความเกี่ยวข้องต่างที่มากกว่าแค่ความรู้สึกของผู้ที่ข้ามาใช้อาคาร วิชาประวัติศาสตร์ทางสถาปัตยกรรม ที่ใช้เวลาศึกษามากว่า 4 ปี ก็เพื่อให้ได้ข้าพเจ้าสามารถออกแบบอาคารได้หลากหลายประเภท จากโปรเจ็ค ดีไซน์ที่ต้องทำ 2 โครงการต่อ1 เทอม ทำให้ข้าพเจ้ามีความรู้เกี่ยวกับอาคารต่างๆ วิชาโครงสร้างก็ช่วยให้สามารถออกแบบตั้งแต่อาคารพาดช่วงกว้าง 4 เมตร ที่ใช้ก่อสร้างบ้านทั่วไป จนสามารถออกแบบอาคารที่มีช่วงกว้างเสา 20 เมตรขึ้นไปที่ทำให้สร้างอาคารประเภท โรงมโหรศพ หรือ สนามกีฬาได้ ทั้งหมดนี้เพื่อให้ข้าพเจ้าออกแบบอาคารที่มีความงามทางสถาปัตยกรรมได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ความรู้สึกของผู้พบเห็น หรือของผู้ที่เข้ามาใช้ภายใน ความกลมกลืนกันบริบท และสภาพแวดล้อมโดยรอบ แม้กระทั้งด้านความคุ้มค่าความเป็นไปได้ของโครงการ หรือความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ต้องคำนึงถึงสิ่งต่างๆ มากมายขนาดนี้ เพราะอาคารเมื่อสร้างมาแล้วมันจะต้องอยู่ตรงนั้นไปอีกหลายสิบปี ถ้าทำออกมาแล้วไม่ใช่แค่ไม่สวย แต่หากกลายเป็นแค่สิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีคนเข้าไปใช้ เสียทั้งทรัพยากร ทั้งแรงงาน และเงินทาง ดังนั้นเราจึงควรใส่ใจในทุกรายละเอียดของการออกแบบ

และหลังจากเมื่อได้เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับวิชา Professional Practice ก็ยิ่งทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจในความเปนสถาปนิกมากขึ้นไปอีก ว่าการที่จะดำรงตนเป็นสถาปนิกนั้นไม่ใช้แค่ออกแบบ และสร้างอาคาร แต่รวมไปถึงต้องรับผิดชอบต่ออาคารนั้นๆ หลังจากสร้างเสร็จแล้วด้วย ดังนั้นแบบต่างๆที่ออกมานั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีสถาปนิกเป็นผู้เซ็นต์คุมแบบ ว่าแบบเหล่านั้นมีความปลอดภัย ได้ออกแบบมาอย่างถูกต้อง ความปลอดภัยนี้ไม่ใช้ความปลอดภัยของโครงสร้างเพราะหน้าที่นั้นเป็นของวิศวกร แต่เป็นความปลอดภัยต่อผู้ที่เข้ามาใช้ในอาคาร ทั้งด้านกฏหมายต่างๆ ทางหนีไฟ และอื่นๆ โดยสถาปนิกผู้ที่จะสามารถรับรองตรงนี้ได้นั้น ก็จำเป็นต้องผ่านการสอบและเป็นสมาชิกกับสภาสถาปนิก เพื่อเป็นหลักประกันว่าไม่ใช้สถาปนิกที่ไม่มีความรู้ แต่ต้องได้รับการรับรองจึงจะสามารถเซนต์ได้ โดยข้อกำหนดต่างๆที่สภากำหนดขึ้นนั้นก็คือประสบการณ์ที่สถาปนิกจะต้องสะสมผ่านการฝึกฝนกับงานจริงนั้นเอง ทำให้ต้องรู้ถึงวิธีการในการดำรงชีพด้วยวิชาเหล่านี้ด้วย เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้ ไม่ใช้เลื่อนขั้นแค่ตามเวลา แต่ต้องใช้ประสบการณ์ที่ระบุไว้ตามที่สภากำหนดด้วยเช่น จะเป็นวุฒิสถาปนิกได้นั้นต้องผ่านการสร้างอาคารแบบไหนมาบ้าง และอาชีพนี้เองก็ต้องมีสามัญสำนึกเหมือนอาชีพอื่นๆเช่นกัน ไม่ว่าจะการหลอกspec ของลูกค้า หรือการรับสินบนของเจ้าของวัสดุก่อสร้างต่างๆ เพราะนั่นไม่ใช้เงินที่เราควรจะได้รับ เพราะเงินที่เราสมควรจะได้รับก็ควรได้มาจากการประกอบอาชีพที่สุจริต เพราะสถาปนิกมีหน้าที่สำคัญคืองานสร้างสถาปัตยกรรมที่ดีให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ ไม่ใช่หาเงินจากช่องโหว่ในสายอาชีพ นั่นเอง